Home » อสังหาฯ บ้าน คอนโด ที่ดิน » ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ปี 2554 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ปี 2554 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง

          โลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ ทั้งด้านกายภาพ สภาพแวดล้อม และสังคม ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ด้านกายภาพที่เห็นได้ชัดเจนคือ ภาวะโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย การเกิดแผ่นดินไหวที่ค่อนข้างถี่ในหลายพื้นที่ของโลก เกิดน้ำท่วมหนัก แผ่นดินพังทลาย อย่างรุนแรงในหลายประเทศ ทั้งหมดนี้เพราะมนุษย์กระทำการเปลี่ยนแปลงสภาพของพื้นโลกไปมากมาย จนโลกไม่อาจแบกรับได้ เพราะขาดความสมดุล ต้องปรับตัวเองอย่างรุนแรง

           ด้านของสภาพสังคม ก็เกิดความวุ่นวาย โดยเฉพาะโลกอาหรับที่กำลังขยายวงกว้าง เพราะการผูกขาดอำนาจของผู้นำประเทศ และเชื่อได้ว่าคงไม่หยุดยั้งอยู่แค่ในโลกของอาหรับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อการดำรงชีพ การดำเนินธุรกิจในทุกสาขาอาชีพของผู้คนในโลกที่นับวันจะคับแคบลงทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่กำลังมีเหตุบ้านการเมืองที่กำลังเข้มข้นขึ้นทุกที ทั้งในฝ่ายของสีเหลือง สีแดง และฝ่ายของรัฐบาลเอง
 

แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัว

          เหตุการณ์เหล่านี้ หากมองในแง่ของภาคธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเริ่มจากเรื่องของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการคาดการณ์ออกมาว่า คาดว่าการจะชะลอตัวลงตามภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่การซื้อขายคงจะชะลอตัวลง เพราะอำนาจการซื้อของผู้บริโภคถูกระทบจากปัจจัยลบหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับราคาขายที่อยู่อาศัย ในขณะที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับอำนาจการซื้อที่อยู่อาศัยหดแคบลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 2.9-4.0% และมีสิทธิ์ที่จะพุ่งขึ้นถึง 5% หากราคาน้ำมันโลกยังพุ่งสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน และเกิดสภาวะแปรปรวนของอากาศรุนแรงมากเกินคาด จนส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในในทิศทางขาขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อผู้บริโภคที่พึ่งพาสินเชื่อสถาบันการเงินในการซื้อ

          ที่อยู่อาศัย ทั้งในด้านกำลังซื้อและความสามารถในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลงเช่นกัน ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงลงความเห็นว่า ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 2554 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 2,014,,350-2,033,215 ล้านบาท ขยายตัว 7.5-8.5% ชะลอลงจากที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 9.8 ในปี 2553

 

ราคาที่อยู่อาศัยอาจขยับขึ้นถึง 10%

         การขายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ศูนย์วิจัย กสิกรไทย คาดว่าจะชะลอตัวลงนั้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2554 จะชะลอตัวตามไปด้วยปัจจัยดังกล่าวมาแล้ว อีกทั้งยังมีเรื่องของราคาที่ดิน และราคาวัสดุก่อสร้าง ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 4.5-5.5% เพิ่มจากปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ระดับ 2.3% ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยในทำเลที่มีศักยภาพสูงอาจมีการปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับราคาที่เปิดตัวในปี 2553 ทำให้มีการคาดการณ์ว่าการเปิดตัวโครงการในปี 2554 จะมีประมาณ 80,0000 หน่วย

         ในการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2554 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้มีการสำรวจ เฉพาะบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่รวมบริษัทรายเล็กและบริษัทที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยรายใหญ่ที่สุดจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 10 ราย พบว่า มีแผนเปิดโครงการใหม่รวมกันถึง 208 โครงการ แบ่งเป็นโครงการประเภทอาคารชุด 52 โครงการ บ้านเดี่ยว 79

         โครงการ ทาวน์เฮ้าส์ 77 โครงการ และหากรวมรายใหญ่ที่รองลงมาอีก 4 ราย รวมเป็น 14 ราย มีแผนเปิดโครงการใหม่ในปี 2554 รวมกันถึงประมาณ 230 โครงการ เป็นอาคารชุด 60 โครงการ บ้านเดี่ยว 90 โครงการ ทาวน์เฮ้าส์ 80 โครงการ โดยในรอบ 2 เดือนแรกของปี 2554 มีการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลไปแล้ว 55 โครงการ มีจำนวนหน่วยรวมกันประมาณ 14,000 หน่วย อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลฯ วิเคราะห์ว่า หากสภาพของตลาดไม่เอื้ออำนวย จำนวนโครงการที่มีการประกาศว่าจะเปิดดังกล่าวมาแล้ว คงจะถูกตัดลดลงไป

คอนโดฯ หด บ้านเดี่ยว-ทาวเฮ้าส์เพิ่ม

          ด้านฝ่ายวิจัย บริษัท พฤกษา เรียลเตท จำกัด(มหาชน) แจงตัวเลขการคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ในปี 2553 มีถึง 60,835 ยูนิต แต่มียอดขายทั้งปีอยู่ที่ 33,237 ยูนิต หรือ 54% เท่ากับว่าในปีนี้มีซัพพลายคอนโดฯ คงเหลือจากการขายในปีก่อน 27,598 ยูนิต ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ตลาดคอนโดมิเนียมปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ขณะเดียวกันในช่วงเดือนมกราคม 2554 มีคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่เพียง 1,587 ยูนิต มียอดขายแล้ว 553 ยูนิต หรือ 34% แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวกันแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในปีนี้มีมากขึ้น โดยบริษัทส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจการพัฒนาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มจากปีก่อน และลดจำนวนการเปิดตัวโครงการอาคารชุดลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดยภาพรวมผู้ประกอบการจะมีความระมัดระวังในการพัฒนาโครงการรวมถึงปริมาณการพัฒนาอาจจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์มีส่วนแบ่งการตลาดที่มากกว่า 70% ของอุตสาหกรรม ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่อง

            จากข้อมูลที่ได้เรียบเรียงมาในเบื้องต้น คงจะทำให้พอมองเห็นภาพปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่พอมองเห็นได้ ณ ขณะนี้ ส่วนสถานการณ์วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครกล้าที่จะฟันธงลงไปอย่างชัดเจนได้ คงต้องคอยติดตามข่าวสารกันอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะสถานการณ์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ทั้งในและต่างประเทศพลิกผันอย่างรวดเร็ว หากไหวตัวไม่ทันคงลำบาก
 

 

ที่มา  บิลเดอร์นิวส์ ฉบับที่ 169 ปักษ์หลัง มีนาคม 2554