Home » อสังหาฯ บ้าน คอนโด ที่ดิน » การป้องกันภัยโจรกรรม-ลักทรัพย์ในที่พักอาศัย

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การป้องกันภัยโจรกรรม-ลักทรัพย์ในที่พักอาศัย

posttoday.com/บ้าน-คอนโด/สารพันปัญหา    24 เมษายน 2554

ระวังบ้าน(แสนรัก)ให้ปลอดภัย

การโจรกรรมและลักทรัพย์เป็นเรื่องที่ทุกคนในบ้านมีหน้าที่รับรู้ร่วมกัน อย่าลืมอัพเดตกลเม็ดใหม่ๆ (ของโจร) สมัยนี้ให้กันฟัง แล้วช่วยกันระวัง

เรื่อง ร็อกนีย์ 3229

มีเรื่องจริงจะเล่าให้ฟัง

            ผู้ชายคนหนึ่งหากินในทางตัดช่องย่องเบา แบบทำคนเดียวได้คนเดียว มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เครื่องมือไม่มีอะไรมาก รถมอเตอร์ไซค์กับกระเป๋าช่าง ตื่นเช้าก็ไม่ต้องทำอะไร ขับรถตระเวนหาบ้านเหยื่อ เห็นบ้านใหญ่เงียบๆ ที่ดูดีมีฐานะ จะเฝ้าสังเกตการณ์อย่างน้อย 7-10 วัน จดเวลาเข้าออกของเจ้าของบ้าน ดูคนในบ้านว่ามีเหลือเฝ้าบ้านกี่คน ส่วนใหญ่จะเหลือคนรับใช้ 1-2 คน ที่เฝ้าบ้านตอนกลางวัน

           จากนั้นก็คอยดูเวลาไปรษณีย์มา จะแอบไปดูหน้าซองจดหมายเพื่อจดจำชื่อเจ้าของบ้านไว้ ถึงวันเวลาเหมาะ เจ้าของบ้านออกไปทำงานแล้ว ชายคนนี้จะมากดกริ่งบอกเจ้าของบ้านชื่อนั้นชื่อนี้ให้มาซ่อมไฟ คนในบ้านเห็นรู้จักชื่อเจ้านายก็มักให้เข้า เข้าไปก็ทำทีไปซ่อมไฟ บอกคนในบ้านให้ไปสับคัตเอาต์หรือสะพานไฟ กำชับว่าให้ยืนคอยอยู่ตรงนั้น อย่าไปไหน ขโมยหัวแหลมจะคอยตะโกนให้เปิดไฟบ้าง ปิดไฟบ้าง 4-5 เที่ยว ระหว่างนั้นก็ขนทรัพย์สินมีค่าใส่กระเป๋าช่างนั่นเอง

           โชคดีที่หัวขโมยรายนี้ถูกจับได้ในที่สุด และสารภาพกลเม็ดเคล็ดโจรให้ได้รู้ ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยอันตรายจะยิ่งซับซ้อนรุนแรง ทั้งปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ลัก วิ่ง ชิง ปล้น เริ่มได้ยินหนาหู หรืออย่างเรื่องนี้ที่บ้านของเราแท้ๆ พวกก็เดินเข้าประตูมาเฉย การโจรกรรมและลักทรัพย์เป็นเรื่องที่ทุกคนในบ้านมีหน้าที่รับรู้ร่วมกัน อย่าลืมอัพเดตกลเม็ดใหม่ๆ (ของโจร) สมัยนี้ให้กันฟัง แล้วช่วยกันระวัง

 

ป้องกันภัยโจรกรรม-ลักทรัพย์ในที่พักอาศัย 

  • ไม่ทิ้งบ้านไว้โดยไม่มีคนดูแลเป็นเวลานานๆ
  • ก่อนออกจากบ้าน ต้องปิดประตู-หน้าต่างใส่กลอน ล็อกกุญแจที่แข็งแรง กุญแจที่สายยูสั้น จะดีกว่าสายยูแบบยาว (เลื่อยง่าย)
  • ผูกสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เมื่อต้องออกจากบ้าน ให้ฝากเพื่อนบ้านช่วยดูแล ไม่ควรเก็บทรัพย์สินมีค่าไว้ในบ้าน
  • ต้องไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่าที่อยู่ติดกับที่พักอาศัย มีต้นไม้ใหญ่หรือพงไม้ขึ้นสูง เพราะคนร้ายอาจใช้เป็นที่กำบังเพื่อเข้ามาโจรกรรม หรือใช้เป็นที่ซ่อนตัวเพื่อหลบหนี
  • ในเวลากลางคืน ควรเปิดไฟฟ้าให้มีแสงสว่างทั่วบริเวณบ้าน
  • เลี้ยงสุนัข ช่วยเตือนภัย อย่าลืมหัดสุนัข ไม่ให้มันกินหรือเลียของจากคนแปลกหน้า คงเคยได้ยินเกี่ยวกับโจรโฉด ที่ชอบเบื่อยาน้องหมา หมาดุอยู่ดีๆ ก็หลับไปไม่ตื่น
  • เมื่อมีผู้โทร.มาถามว่า “มีใครอยู่บ้านบ้างหรือไม่” ให้ตอบว่า “มีอยู่กันหลายคน”
  • ควรเล่ากลอุบายต่างๆ ของคนร้าย ให้คนรับใช้หรือทุกคนในบ้านทราบ กระตุ้นเตือนบ่อยๆ ไม่ให้หลงเชื่อเล่ห์เหลี่ยมที่มาได้ทุกรูปแบบ
  • ติดตั้งสัญญาณแจ้งภัยระบบไซเรน เพราะคนร้ายมักกลัวเสียงดัง
  • เมื่อไม่อยู่บ้านควรเปิดไฟระบบ ตั้งเวลาปิด-เปิดทิ้งไว้บ้าง เพื่อให้คนร้ายเข้าใจว่ามีคนอยู่
  • ก่อนเปิดประตู ต้องตรวจดูให้แน่ว่าเป็นคนที่ท่านหรือคนในบ้านรู้จักหรือคุ้นเคยกันแน่ๆ
  • ตรวจสอบบัตรของช่างซ่อม ตัวแทนบริษัทต่างๆ ทุกครั้ง อย่ายินยอมให้เข้าบ้านถ้าไม่แน่ใจ
  • จดจำตำหนิรูปพรรณคนแปลกหน้า ทะเบียนรถที่ผิดสังเกต
  • ให้หยุดรับหนังสือพิมพ์ นิตยสาร กรณีที่จะไม่มีคนอยู่บ้านหลายวัน หนังสือพิมพ์และกองนิตยสารที่ก่ายกองหน้าบ้าน ทำให้ผู้ทุจริตสังเกตได้ว่าไม่มีคนอยู่บ้าน
  • ต้องมีสำเนาบัตรประชาชน รูปถ่าย และรายละเอียด ประวัติส่วนตัวของลูกจ้าง คนงาน คนรับใช้ทุกคนในบ้าน
  • เมื่อทราบเหตุ หรือรู้ว่ามีคนร้ายเข้าบ้าน อย่าคิดจับตัวคนร้ายด้วยตัวเอง ควรขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน รปภ. หรือแจ้งตำรวจให้จับกุม
  • เมื่อเกิดเหตุแล้ว ห้ามเคลื่อนย้ายสิ่งของ ห้ามบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เข้าไปยุ่มย่าม จนกว่าจะมีการตรวจสอบ และจัดเก็บพยาน-หลักฐานเรียบร้อยแล้ว

 

หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินที่ทุกบ้านต้องมี

ศูนย์พระราม (สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.)       199
แจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย         191
วชิรพยาบาล          1554
ศูนย์นเรนทร          1669
ศูนย์วิทยุ ป่อเต็กตึ๊ง 24 ชั่วโมง       02-226-4444-8
มูลนิธิร่วมกตัญญู        02-751-0951-3
ศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล (สนง.ตำรวจแห่งชาติ)      1691
สวพ.91          1644
จส.100          1137
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ        1860
ศูนย์สวัสดิภาพเด็กเยาวชนและสตรี        02-282-3892
ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและครอบครัว        1579
ศูนย์บริการรับแจ้งไฟฟ้าขัดข้อง        1130
ศูนย์รับแจ้งน้ำประปาขัดข้อง        1125
สายด่วน ศูนย์กทม. (พบเบาะแส แจ้งเรื่องร้องทุกข์)      1555

 

ที่มา    http://www.posttoday.com/บ้าน-คอนโด/สารพันปัญหา/85286/ระวังบ้าน-แสนรัก-ให้ปลอดภัย