สัญญาซื้อขายบ้านจัดสรร-การตรวจสอบก่อนเซ็นต์ |
วันเสาร์ ที่ 9 กรกฎาคม 2554 : กฎหมายรอบรั้ว
ก่อนเซ็นสัญญาต้องตรวจสอบให้ดี
เพื่อไม่ให้เสียเปรียบผู้ประกอบการ วันนี้จะพูดถึงปัจจัยบางข้อที่ต้องพิจารณาก่อนการตกลงทำสัญญาซื้อขายบ้านจัดสรรเพื่อให้รู้หลักการคร่าวๆ ในการพิจารณาสัญญาก่อนลงมือเซ็นสัญญาซื้อขายบ้านจัดสรรครั้งต่อไป
ก่อนจะเซ็นสัญญาซื้อขายบ้านจัดสรร เราจะต้องพิจารณาและตรวจสอบข้อสัญญาอย่างละเอียดรอบคอบ อ่านทุกข้อความที่ระบุไว้ในสัญญา และทำความเข้าใจกับทุกๆ ตัวอักษรในสัญญาซื้อขายนั้น หากมีข้อสงสัยก็ให้ผู้รู้อธิบายให้เข้าใจก่อน อย่าอายหรือเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าหากไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็อาจจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในข้อสัญญาซื้อขายบ้านจัดสรรได้ ทำให้เสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ และอาจจะนำไปสู่การเซ็นสัญญาที่ผิดกฎหมายข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นไปได้
อย่ารอที่จะพิจารณาแต่เพียงแบบบ้านที่ใช้โฆษณากับแบบบ้านที่ใช้ในการทำสัญญาว่าเป็นแบบเดียวกันหรือไม่ หรือทางเจ้าของโครงการมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขส่วนใดหรือไม่ให้พิจารณาถึงวัสดุที่ใช้ในแบบทำสัญญาว่าตรงตามที่ได้โฆษณาไว้หรือไม่ หากไม่มีความรู้ความเข้าใจก็อาจจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างสถาปนิกหรือวิศวกรไปด้วย เพื่อพิจารณาในส่วนนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และลดความเสี่ยงที่อาจจะถูกโกงในภายหลัง
ก่อนการเซ็นสัญญาซื้อบ้านจัดสรรทุกครั้ง ต้องมีการตรวจสอบข้อสัญญา อ่านและทำความเข้าใจข้อสัญญาอย่างละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ตกเป็นผู้เสียเปรียบในการทำสัญญาฉบับนั้น
ถ้าบ้านเกิดมีปัญหาอันเนื่องมาจากการลงลายมือชื่อของเรา ฝ่ายที่จะเสียเปรียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือฝ่ายที่มีลายมือชื่อในสัญญา หรือบางครั้งอาจจะนำมาซึ่งความผิดเพี้ยนของแบบบ้านที่ไม่ตรงตามแบบที่นำมาเสนอขายผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ แล้วบ้านเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง แต่ทางโครงการไม่ทำการแก้ไขให้โดยการอ้างถึงข้อสัญญาแล้ว ฝ่ายผู้ซื้อก็ต้องจนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะข้อสัญญาที่ทำไม่ได้ครอบคลุมถึงส่วนนี้ ดังนั้นการทำสัญญาซื้อขายบ้านจัดสรร ฝ่ายผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในเอกสารทุกๆ แผ่นและทุกๆ ข้อความในสัญญานั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่ฝ่ายผู้ซื้อจะเสียเปรียบอันเกิดจากการทำสัญญาซื้อขายนั้น
ข้อสัญญาซื้อขายบ้านจะต้องมีสาระสำคัญดังนี้
-
เอกสารควรระบุอย่างชัดเจนว่าจุดมุ่งหมายของเอกสารคืออะไร ถ้าไม่มี อย่าเซ็นเป็นอันขาด
-
ชื่อคู่สัญญาทุกฝ่ายต้องระบุให้ครบถ้วน ถ้าไม่ครบอย่าเซ็น
-
ความสามารถในการปฏิบัติ หรือชำระหนี้ตามสัญญาจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย
-
ถ้ามีผู้เยาว์เป็นคู่สัญญาก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน
-
ค่าเสียหายเมื่อเกิดความผิดพลาดต้องมีการกำหนดให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาต้องรับผิดชอบ
-
ค่าธรรมเนียม, ค่าภาษีอากร ในสัญญาซื้อขายบ้านต้องระบุชัดเจนว่าฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดชอบ
-
ลายมือชื่อต้องมีการลงนามพร้อมกันแบบเห็นหน้าทั้งสองฝ่ายเท่านั้น
-
ควรมีพยานรู้เห็นขณะเซ็นสัญญา เพราะจะได้มีพยานหากเกิดปัญหาภายหลัง อย่าประนีประนอมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้นนะครับ
ดินสอพอง
ที่มา http://dailynews.co.th
|