Home » อสังหาฯ บ้าน คอนโด ที่ดิน » ที่ดินมือเปล่า-ที่ดินมีโฉนด ต่างกันอย่างไร

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ที่ดินมือเปล่า-ที่ดินมีโฉนด ต่างกันอย่างไร

ที่ดินมือเปล่ากับที่ดินมีโฉนด

กฎหมายรอบรั้ว dailynews.co.th วันที่ 21 เมษายน 2555

มีผู้อ่านถามถึงความแตกต่างระหว่างที่ดินมือเปล่า กับที่ดินมีโฉนด สามารถแยกรายละเอียดได้ดังนี้ครับ

        ที่ดินมือเปล่า คือที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์อย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 อย่างต่อไปนี้คือ ไม่มีโฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว หรืออาจมีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินบางอย่าง เช่น ใบเหยียบย่ำ ตราจองที่เป็นใบอนุญาต สค.1 ใบจอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือใบไต่สวน และเจ้าของที่ดินจะมีเพียงสิทธิครอบครอง

        เจ้าของที่ดินมือเปล่าอาจสูญสิ้นสิทธิในที่ดินได้โดยการโอนที่ดินของตนให้ผู้อื่นหากเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โอนโดยการจดทะเบียนต่อนายอำเภอซึ่งที่ดินตั้งอยู่ หากเป็นที่ดิน สค.1โอนโดยการส่งมอบการครอบครอง ซึ่งใช้ยันกันได้ระหว่างเอกชนเท่านั้นจะใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ หรือโดยการสละเจตนาครอบครอง เช่น เจ้าของที่ดินมือเปล่า สค.1 ทำหนังสือโอนขายกันเองเป็นการแสดงเจตนาว่าผู้ขายสละเจตนาครอบครองและไม่ยึดถือที่ดินนั้นต่อไป หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินนั้นต่อไป การที่เจ้าของที่ดินมือเปล่าเลิกยึดถือที่ดินเป็นการแสดงเจตนาละทิ้ง เลิกครอบครองการซื้อขายที่ดินมือเปล่าโดยมิได้ทำสัญญา เมื่อผู้ซื้อได้ชำระราคา และผู้ขายสละสิทธิให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองที่ดิน ที่ดินย่อมเป็นสิทธิของผู้ซื้อ

        หรืออาจสูญเสียสิทธิโดยการถูกแย่งการครอบครอง และเจ้าของที่ดินมือเปล่าไม่ฟ้องเรียกร้องคืนภายใน 1 ปีย่อมสูญสิ้นสิทธิไป การฟ้องเรียกคืนจะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เพราะกฎหมายถือว่าที่ดินมือเปล่า เจ้าของจะไม่มีกรรมสิทธิ์จะมีก็แต่เพียงสิทธิครอบครองระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง มิใช่นับตั้งแต่วันที่รู้ว่าถูกแย่งการครอบครอง การฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี เป็นระยะเวลาสิ้นสุด มิใช่อายุความ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ศาลก็หยิบยกขึ้นพิจารณายกฟ้องโจทก์ก็ได้

        รวมถึงอาจสูญเสียสิทธิในที่ดินโดยการถูกเวนคืนให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ หรือเจ้าของละทิ้ง เช่น ที่ดิน สค.1 ใบจองหากเจ้าของสละเจตนาครอบครอง การครอบครองย่อมสิ้นสุด ที่ดินตกเป็นของรัฐ สำหรับที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์หากทอดทิ้ง 5 ปีติดต่อกันที่ดินตกเป็นของรัฐประเภทที่รกร้างว่างเปล่า


 

        ส่วนที่ดินมีโฉนด เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ กล่าวคือมีสิทธิใช้สอย จำหน่ายจ่ายโอน สิทธิได้ดอกผลและติดตามเอาคืน ที่ดินมีโฉนด อาจครอบครองปรปักษ์ได้ หากมีบุคคลอื่นเข้ามาครอบครองที่ดินมีโฉนดโดยสงบเปิดเผย และเจตนาอย่างเป็นเจ้าของติดต่อกัน 10 ปี บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์แต่ต้องไปขอให้ศาลสั่งว่าได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ และนำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนประเภทได้มาโดยการครอบครองต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ที่ดินมือเปล่า ถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้.

ดินสอพอง
ที่มา 
http://www.dailynews.co.th/article/950/23233