การสร้างรั้วบ้าน (สิทธิ-กฎหมาย) |
กฏหมายว่าด้วย รั้วบ้าน
dailynews.co.th - กฎหมายรอบรั้ว วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2555
รั้วบ้าน อาจเป็นปัญหาที่ทำให้ท่านเจ้าของบ้าน ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าได้ เพราะรั้วถือเป็นส่วนของบ้าน การก่อสร้างรั้วอาจจะมีผลกระทบกับบ้านข้างเคียงได้ การก่อสร้างรั้วจึงต้องใช้ความระมัดระวังมิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนบ้านตามมาได้ภายหลังเดิมทีเราอาจมีความคิดว่ารั้วที่มีอยู่เดิมไม่มีความเป็นส่วนตัว เพราะต่ำเกินไป ไม่ปลอดภัย และต้องการจะก่อสร้างรั้วขึ้นมาใหม่ในที่ดินของเราเองให้สูงขึ้นตามที่ใจเราต้องการ เนื่องจากเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเราที่สามารถกระทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงแต่อย่างใด
ตามกฎหมายแล้ว เราสามารถก่อ สร้างรั้วได้ โดยกฎหมายกำหนดให้สามารถสร้างรั้วได้สูงประมาณ 3 เมตร ซึ่งถือว่ามีความสูง และจะทำให้ครอบครัวมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยที่เจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ไม่สามารถขัดขวางได้ เนื่องจากมีการก่อสร้างรั้วในแนวเขตที่ดินของเราเอง แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงนะครับ
และที่สำหรับ การก่อสร้างรั้วในเขตที่ดินของตนเองจะไม่ถือว่าเราสละสิทธิการครอบครองเนื้อที่ดินส่วนที่เป็นช่องว่างระหว่างรั้วของทั้งสองข้างแต่อย่างใด (เพราะว่าเราไม่สามารถตกลงที่จะขอต่อเติมรั้วที่มีอยู่เดิมได้) และหลักฐาน (หลักหมุดที่ดิน) ที่แสดงว่าแนวเขตที่ดินของเดิมก็ยังคงเป็นเช่นเดิมครับ รั้วที่ก่อสร้างใหม่ไม่ได้เป็นหลักฐานที่แสดงแนวเขตที่ดินแต่อย่างใด
ส่วนคำถามที่ว่า หากเจ้าของที่ดินข้างเคียงเกิดรื้อรั้วเดิม และใช้ประโยชน์ในที่ดินของเราแล้วจะเกิดปัญหาหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาก่อนว่า รั้วเดิมที่ก่อสร้างเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ก่อสร้างลงในแนวเขตที่ดินครึ่งหนึ่งที่เป็นของเราหรือไม่ หรือก่อสร้างในแนวเขตที่ดินของเขาเองทั้งหมด หากก่อสร้างบริเวณครึ่งหนึ่งของเส้นแนวเขตที่ดินของเรา ก็จะทำให้เราต้องเสีย (การใช้ประโยชน์ในที่ดิน) พื้นที่ใช้สอยบริเวณรั้วใหม่รวมกับพื้นที่ครึ่งหนึ่งของรั้วเดิมไป
ส่วนเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าให้รั้วเป็นกรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของ นั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารั้วที่ก่อสร้างใหม่นั้นได้ก่อสร้างในที่ดินของเรา โดยที่เจ้าของที่ดินข้างเคียงก็รู้อยู่แล้ว เราก็ยังคงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามที่ปรากฏในแนวเขตที่ดินเดิมต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาอ้างสิทธิครอบครองปรปักษ์ หรือแย้งสิทธิอันพึงมีของเราไปได้ง่าย ๆ ครับ
เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องกลัวว่าจะเสียสิทธิในที่ดินของตนไป แล้วยอมทนไม่มีความสุขกับรั้วเดิมตลอดไปนะครับ.
ดินสอพอง ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/950/174950
|