ภาระจำยอม...อสังหาริมทรัพย์ |
เรื่องของภาระจำยอม
dailynews.co.th - กฎหมายรอบรั้ว วันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2556
ภาระจำยอม เป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่ง และเป็นการตัดทอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น อันทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น (ภารยทรัพย์) ต้องยอมรับภาระบางอย่าง ซึ่งจะกระทบกระเทือนกรรมสิทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ (สามยทรัพย์) เช่นภาระจำยอมในเรื่องทางเดินเท้า ทางเดินรถยนต์ หรือทางน้ำ ทางระบายน้ำ หรือยอมให้ชายคา หรือหน้าต่างของบุคคลอื่นลุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน รวมถึงภาระจำยอมในเรื่องของสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่นไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์เป็นต้น
สิทธิและหน้าที่ของเจ้าของภารยทรัพย์ มีดังนี้คือ
-
ต้องไม่ประกอบการใด ๆ เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมนั้นลดลงไป
-
เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ หรือในสามยทรัพย์อันเป็นการเพิ่มภาระแก่ ภารยทรัพย์
-
เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อรักษา และใช้ภาระจำยอมและต้องให้ภารยทรัพย์เสียหายน้อยที่สุด
-
ถ้าความต้องการของเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ ที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์
-
เจ้าของภารยทรัพย์อาจจะขอย้ายไปส่วนอื่นก็ได้ แต่การย้ายนั้นต้องไม่ทำให้ความสะดวกแห่งสามยทรัพย์ลดน้อยลงไป
-
ถ้ามีการแบ่งภารยทรัพย์ ภาระจำยอมก็คงมีอยู่ทุกส่วนที่แยกออกไป แต่ถ้าส่วนใดไม่ใช้ หรือใช้ไม่ได้ เจ้าของส่วนอาจเรียก หรือขอให้พ้นจากภาระจำยอมได้ 7) เมื่อสามยทรัพย์ได้จำหน่ายออกไปภาระจำยอมย่อมติดไปด้วย เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ภาระจำยอมเป็นบทบัญญัติที่ไม่มีการจำกัดระยะเวลาเหมือนทรัพยสิทธิประเภทอื่น ดังนั้นการทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดภาระจำยอมต้องกำหนดเงื่อนไขไว้ให้ชัดเจน เช่นขนาดความกว้างความยาว การให้ยานพาหนะผ่านได้หรือไม่ หรือการกำหนดว่าให้หมดภาระจำยอม เมื่อมีการโอนสามยทรัพย์ให้บุคคลอื่น
นอกจากนี้ภาระจำยอมอาจเกิดโดยทางนิติกรรม และโดยอายุความทางนิติกรรมจะทำได้โดยการตกลงกันระหว่างเจ้าของที่ดินแปลงที่จะจดเป็นภาระจำยอม และแปลงที่จะได้ประโยชน์จากภาระจำยอม โดยต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนภาระจำยอมที่เกิดจากอายุความ จะเกิดจากการที่ที่ดินแปลงหนึ่งได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอีกแปลงหนึ่งโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเพื่อใช้ประโยชน์ของภาระจำยอม ติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปี ก็จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความเช่นกัน
ส่วนเรื่องการสิ้นไปแห่งภาระจำยอม มีดังนี้
-
ถ้าภารยทรัพย์ หรือสามยทรัพย์ สลายไปทั้งหมดเท่ากับภาระจำยอมจะสิ้นไปโดยอัตโนมัติ
-
เมื่อภารยทรัพย์ หรือสามยทรัพย์ ตกเป็นเจ้าของคนเดียวกัน เจ้าของสามารถขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมได้
-
ภาระจำยอมไม่ได้ใช้ 10 ปี ติดต่อกันภาระจำยอมย่อมหมดสิ้นไป
-
ภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์
-
เมื่อภาระจำยอมนั้น ยังประโยชน์ให้แก่สามยทรัพย์นั้น น้อยมากเจ้าของภารยทรัพย์ขอให้พ้นจากภาระจำยอมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน.
ดินสอพอง ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/950/179037
|