Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
แปลงโฉม ทาวน์เฮ้าส์ เป็น คอนโดมิเนียม |
กลยุทธ์การแปลงโฉม "ทาวน์เฮ้าส์" ให้กลายเป็น "คอนโดมิเนียม" หลายคนคงเคยได้นิมาบ้างแล้ว หลายคนก็ยังงงๆ
แปลงโฉมยังไง? เพื่ออะไร? ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่า แปลงโฉม เพื่ออะไร? ก็เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนที่ อยากทำบ้านขายฝรั่งในเมืองไทย แต่ไม่อยากยุ่งยาก เรื่องกฎหมาย เพราะฝรั่งเป็นเจ้าของบ้านไม่ได้ เลยต้องมีเทคนิคเล็กน้อย ในการแปลงกาย"ทาวน์เฮ้าส์" ให้เป็น "คอนโดมิเนียม" ส่วนกลเม็ดในการแปลงโฉม ก็เริ่มต้นด้วยการออกแบบโครงการให้เหมือนบ้าน มองภายนอกแล้วเหมือนบ้าน เหมือนทาวน์เฮ้าส์ แต่จะมีจำนวนหลายชั้น อาจจะ 3 ชั้น หรือ 4 ชั้น และแตกต่างตรงที่ แต่ละชั้น จะมีแค่ยูนิตเดียว หรือแต่ละชั้นจะแยกจากกันโดยสิ้นเชิง มีทางเข้าออกที่แยกกัน หลังจากนั้นก็ขออนุญาตก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียม แต่เวลาขายก็จะบอกลูกค้าว่า เป็นทาวน์เฮ้าส์คะ
วิธีนี้ อาจกลายเป็นทางออกที่น่าสนใจกับเจ้าของธุรกิจอสังหาฯ เมืองท่องเที่ยว ที่เจอทางตันด้วยความเข้มงวดในการตรวจสอบนอมินี ที่ทำให้วันนี้ขายบ้านยากซะเหลือเกิน ไม่คล่องตัว สะดวกสบายเเหมือนในอดีต ที่เพียงจัดตั้งบริษัท หาชาวบ้านสัก 3-4 คนมาใส่ชื่อเป็นคนไทยร่วมกิจการ ก็ซื้อบ้านได้แล้ว หลายคนอาจจะตะขิดตะขวงใจกับรูปแบบดังกล่าว เหมือนเลี่ยงกฎหมาย หรือหาทางหลบกฎหมายยังไงชอบกล... แต่ ในมุมมองของนักออกแบบ สุนันทพัฒน์ เฉลิมพันธุ์ ประธาน บริษัท เคทีจีวาย อินเตอร์ - แอสโซซิเอทส์ จำกัด บริษัทออกแบบที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ เขาก็เล่าให้ฟังว่า...เราสามารถออกแบบคอนโดมิเนียมให้มีหน้าตาเหมือนทาวน์เฮ้าส์ได้ ทำให้คอนโดมิเนียมมีรูปแบบเหมือนบ้านและพื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกับบ้านและทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งบ้านลักษณะแบบนี้ในต่างประเทศนิยมมาก HomeBiz ขอทิ้งท้ายว่า...นี่เป็นอีกมุมมองของผู้ที่อยู่ในธุรกิจต้องเดินหน้า แม้ว่าอาจจะดูเหมือนอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปเสียแล้ว ที่มา Blog : HomeBiz By BoBiz http://www.oknation.net/blog/homebiz/2007/05/30/entry-2
เกิดจนได้ ทาวน์เฮ้าส์ แปลงร่างเป็น คอนโด ขายฝรั่ง HomeBiz By BoBiz เคยนำเสนอเรื่อง กลยุทธ์การแปลงโฉม "ทาวน์เฮ้าส์" ให้กลายเป็น "คอนโดมิเนียม" มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ว่าตอนนั้น ดูเหมือนคอนเซ้ปต์แบบนี้ จะยังไม่เกิดสักเท่าไร เพียงแต่ คุณสถาปนิกโกอินเตอร์เขาว่า...เป็นมูฟเมนท์การออกแบบที่น่าสนใจนำมาปรับใช้กับบ้านเรา โดยเฉพาะโครงการที่อยากขายบ้าน ขายทาวน์เฮ้าส์ให้กับต่างชาติ
แต่ในที่สุด คอนเซ็ปต์แบบนี้ ก็เข้ามาในเมืองไทยจริงๆ มีคน แปลงกาย "ทาวน์เฮ้าส์" เป็น "คอนโด" ในเมืองไทยแล้ว ทำ "ทาวน์เฮ้าส์" ขายฝรั่ง แต่จดทะเบียนเป็นคอนโดมิเนียม ทำตัวอาคารให้มีความสูงสัก 4-5 ชั้น แล้วให้ 2 ชั้นแรกเป็น ทาวน์เฮ้าส์ มีทางขึ้น ทางออก แยกส่วนสัดชัดเจนกับห้องชุดอื่นๆ มีที่จอดรถแยกจากที่จอดรถส่วนรวม คอนเซ็ปต์นี้เกิดขึ้นในโครงการที่ชื่อ "ภูผาธารา" ที่ระยอง ของบริษัทบริษัท วิไลลักษณ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล "วิไลลักษณ์" ผู้ถือหุ้นใหญ่ธุรกิจสื่อสาร "สามารถ คอร์ปอเรชั่น" เขาขายบ้านพักตากอากาศ และคอนโดมิเนียมในโครงการเดียวกัน ตัวบ้านพักตากอากาศก็ออกแบบทั่วไป ไม่แปลกหรือแตกต่าง แต่ตัวคอนโดมิเนียม ถูกแปลงกายเล็กน้อย คือ ปรับพื้นที่ 2 ชั้นของตัวอาคาร ให้เป็นทาวน์เฮ้าส์ แต่การจดทะเบียนขออนุญาตก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียม ราคาขายอยู่ที่ 14 ล้านบาท สำหรับขายฝรั่งโดยเฉพาะ ฝรั่งที่ต้องการบ้านมีเยอะ เพราะตอนที่อยู่บ้านเมืองตัวเอง อยู่ได้แบบคอนโดมิเนียมมาหน่ายแล้ว มาอยู่เมืองไทย ขอเป็นเศรษฐีซื้อบ้าน แต่ถ้าไม่อยากยุ่งยาก ก็ต้องซื้อบ้านในคราบคอนโดมิเนียม แบบนี้ซะ!!! เจ้าของโครงการ นักพัฒนาที่ดินเขาก็เก่งกันจริงๆ ปรับ พลิกแพลงกันไปเรื่อย ให้โครงการอยู่รอด ให้ขายได้ มีกำไร ก็คงพอแล้ว...
ที่มา Blog : HomeBiz By BoBiz http://www.oknation.net/blog/homebiz/2007/06/13/entry-1
ข่าวด่วน กรมที่ดิน แจ้งทั่วปท. หวั่นถูกหลอกซื้อบ้าน แต่จดเป็นห้องชุด
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2553
กรมที่ดินเตรียมออกประกาศ แจ้งแนวทางปฏิบัติ ของเจ้าหน้าที่ -ลูกบ้าน กรณีนำบ้านเดี่ยว -แฝด -ทาวน์เฮาส์จดทะเบียนอาคารชุด เปรียบเทียบกรรมสิทธิ์ที่ได้รับ หวั่นประชาชนถูกหลอกหลังกฤษฎีกาตีความ ไม่ผิดกฎหมาย ดีเดย์ เมษายน-พฤษภาคมนี้ ก่อน ล้อมคอกแก้ไขกฎหมายอาคารชุดต่อไป แหล่งข่าวจากกรมที่ดินเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตามที่ มีผู้ประกอบการหลายรายนำโครงการบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ลักไก่ จดทะเบียนอาคารชุดตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) อาคารชุด พ.ศ. 2522 ขายให้กับต่างชาติและลูกบ้านทั่วไปตามหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ นั้น ล่าสุด กรมได้ยกร่างประกาศกรมที่ดินขึ้นมาหนึ่งฉบับ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้าที่ และลูกบ้านเพื่อป้องกันความผิดพลาดและถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการโดยจะแยกให้เห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่างกรรมสิทธิ์ที่ได้รับจาก กรณีบ้านจัดสรร และอาคารชุด อย่างไรก็ดี ประกาศดังกล่าวจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติได้ประมาณเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2553 นี้ และจะทำเป็นฉบับภาษาอังกฤษเพื่อให้ชาวต่างชาติรับทราบถึงข้อบังคับของกฎหมายไทยด้วย ก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายอาคารชุดเพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้สาระสำคัญ ในประกาศจะกำหนดชัดเจนว่า กรณีบ้านที่นำไปจดทะเบียนอาคารชุด จะได้กรรมสิทธิ์เหมือนกับอาคารชุดทั่วไป โดยไม่สามารถจดทะเบียนอาคารชุด สำหรับบ้าน 1 หลังต่อ 1 ห้องชุดได้ ซึ่งจะต้องรวมบ้านทุกหลัง ขณะที่ผู้ซื้อบ้านจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในแปลงที่ดิน เหมือนกับบ้านจัดสรร ตามกฎหมายจัดสรรที่ดิน 2543 แต่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอาคารชุดคือ เสา คาน เพดาน ผนังรับน้ำหนักจะเป็นของเจ้าของร่วม ส่วนทางเดินร่วม ระหว่างตัวบ้าน อาทิ บริเวณด้านหน้า ด้านข้าง หลังบ้าน จะต้องใช้เป็นทางเดินร่วมกันซึ่งไม่มีความเป็นส่วนตัวเหมือนบ้าน ที่สำคัญ จะต้องเสียค่าทรัพย์ส่วนกลางทุกเดือน รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ ที่นิติบุคคลอาคารชุดเรียกเก็บ ตามระเบียบข้อบังคับ ที่สูงกว่าปกติ ขณะที่บ้านจัดสรร อาจจะยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะยังไม่สามารถตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรได้ ไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงได้เหมือนบ้านทั่วไป เช่น สุนัข แมว ฯลฯ เพราะเป็นข้อห้ามของระเบียบนิติบุคคลอาคารชุด นอกจากนี้ความเป็นส่วนตัวจะน้อยกว่าที่ซื้อบ้านจัดสรรทั่วไป หรือบ้านปลูกสร้างเอง การขายเปลี่ยนมือจะลำบากจะขายได้เฉพาะตัวบ้านส่วนที่ดินจะเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม เป็นต้น
ที่มา:หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2553
|