กฎหมายคดีผู้บริโภค กับ การซื้อขายอสังหาฯ |
dailynews.co.th วันเสาร์ ที่ 09 เมษายน 2554
กฎหมายคดีผู้บริโภค
การฟ้องคดีผู้บริโภค มีลักษณะเฉพาะหลายอย่างที่แตกต่างจากการฟ้องคดีทั่ว ๆ ไป คือ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี แยกเป็น 2 กรณี ได้แก่ คดีที่ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องฟ้องต่อศาลที่ผู้ประกอบการมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจ และคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภค มาตรา 17 ได้บัญญัติว่า หากผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิฟ้องได้ที่ศาลซึ่งผู้บริโภคมีภูมิลำเนาเท่านั้น
เงื่อนไขเกี่ยวกับเอกสารสัญญานั้น กำหนดว่าคดีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเกินกว่า 200,000 บาทขึ้นไป ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 กำหนดว่าหากจะฟ้องร้องกันได้ จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีการวางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วน แต่สำหรับกฎหมายคดีผู้บริโภคแล้ว แม้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ผู้บริโภคก็ยังสามารถฟ้องคดีให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดชำระหนี้ได้
ส่วนคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องทำสัญญาตามแบบ เช่น สัญญาเช่าซื้อที่กำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ หากผู้บริโภคได้วางมัดจำ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม ผู้บริโภคก็ยังสามารถฟ้องร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจ จัดทำหนังสือสัญญาตามแบบที่กฎหมายกำหนด หรือชำระหนี้เป็นการตอบแทนได้
เรื่องของค่าฤชาธรรมเนียม กฎหมายคดีผู้บริโภค บัญญัติยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทุกชนิดให้แก่ผู้บริโภค หรือผู้มีอำนาจฟ้องแทนฯ เป็นการทั่วไป
สำหรับคำฟ้องในคดีผู้บริโภคนั้นนอกจากจะต้องทำเป็นหนังสือแล้ว กฎหมายยังกำหนดว่าสามารถฟ้องโดยวาจาได้ (ทางศาลจะมีเจ้าพนักงานคดีผู้บริโภค ให้ความช่วยเหลือในการเขียนคำฟ้อง) คำฟ้องต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ หลังจากฟ้องคดีผู้บริโภคถ้ามีการฟ้องเพิ่มเติม หรือฟ้องแย้ง คำร้องสอดเข้ามาในคดี หรือศาลสั่งให้รวมคดีแพ่งเข้ากับคดีผู้บริโภคก็ให้ถือว่าฟ้องเหล่านั้น เป็นคดีผู้บริโภคด้วยแม้เนื้อหาอาจไม่ใช่คดีผู้บริโภคโดยตรง
ส่วนเรื่องของอายุความในการฟ้องคดีผู้บริโภคนั้น ถ้าคดีที่ความเสียหายต้องใช้เวลาในการแสดงผล หรือกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ ผู้บริโภค หรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนอาจใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย และรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันรู้ถึงความเสียหาย คดีเรียกค่าเสียหายทั่วไปถ้าเป็นคดีตามกฎหมายความรับผิดในสินค้าไม่ปลอดภัย จะมีอายุความในการฟ้องร้องคดี 3 ปี นับแต่รู้ถึงความเสียหาย และรู้ตัวผู้ประกอบการที่ต้องรับผิด หรือ 10 ปีนับแต่วันที่ขายสินค้า
คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ เช่นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟ้องลูกค้าให้ชำระหนี้หรือบริการ คดีโทรคมนาคม โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต บริการสื่อสารอื่น ๆ ธุรกิจสาธารณูปโภค คดีบัตรเครดิตหรือบริการสินเชื่อส่วนบุคคล กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา คดีที่นิติบุคคลอาคารชุดหรือนิติบุคคลบ้านจัดสรรฟ้องบังคับเจ้าของอาคารชุดหรือบ้านจัดสรรให้รับผิดในค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง ล้วนเป็นคดีผู้บริโภคทั้งสิ้น.
ดินสอพอง
ที่มา http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=507&contentID=131708
|