ที่ดินเป็นทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่ก็สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ โดยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่กัน นอกจากนี้ยังสามารถนำที่ดินออกให้เช่า เพื่อให้บุคคลอื่นทำประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง
การเช่าที่ดินนั้นกฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ แต่ในกรณีที่ตกลงเช่าที่ดินเกินกว่า 3 ปี จะต้องจดทะเบียนสิทธิการเช่าที่ดินต่อสำนักงานที่ดินในพื้นที่ จึงจะบังคับได้ตามสัญญาเช่า
เรื่องของเงื่อนไขในสัญญาเช่านั้น ก็แล้วแต่ว่าคู่สัญญาจะตกลงกันอย่างไร หากข้อกำหนดในสัญญาเช่านั้นไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ก็จะสามารถใช้บังคับได้ตามสัญญาเช่านั้น แต่หากมีข้อกำหนดบางข้อขัดกับกฎหมายแล้ว ข้อกำหนดในสัญญาเช่านั้นจะตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันและไม่สามารถบังคับคู่สัญญาได้
ส่วนในเรื่องของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในที่ดินที่เช่านั้น แม้ว่าสิ่งปลูกสร้างนั้นจะมีลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง (เป็นทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้) จะถือว่าเป็นส่วนควบของที่ดินหรือไม่ จะต้องพิจารณาว่าสิ่งปลูกสร้างนั้นใครเป็นผู้ก่อสร้าง หากผู้ให้เช่าเป็นผู้ก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ก็จะตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่เช่า แต่หากผู้เช่าเป็นผู้ก่อสร้าง ก็จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ขณะก่อสร้างผู้เช่ามีสิทธิที่จะปลูกสร้างหรือไม่ หากก่อสร้างโดยไม่มีสิทธิ สิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ก็จะตกเป็นส่วนควบของที่ดิน และถือว่าผู้ให้เช่าที่ดินเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ด้วย
แต่หากขณะก่อสร้างผู้เช่ามีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ ก็จะเข้าข้อยกเว้นเรื่องส่วนควบ และกฎหมายถือว่าผู้เช่าเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างนั้น
และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ผลทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างจะแตกต่างกัน กล่าวคือ หากสิ่งปลูกสร้างนั้นตกเป็นส่วนควบของที่ดินแล้ว ผู้เช่าจะไม่สามารถรื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย ทำให้เสียหาย หรือเสื่อมค่าลงไปได้ หาก ผู้เช่ากระทำการดังกล่าวลงไป ก็อาจมีความเป็นได้ แต่หากสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินแล้ว ผู้เช่าก็สามารถที่จะรื้อถอน เคลื่อนย้าย ทำให้ เสียหาย หรือเสื่อมค่าลงไปได้ เพราะถือว่าสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ เป็นของผู้เช่า ในทางกลับกันหากผู้ให้เช่ากระทำการดังกล่าวข้างต้น ก็อาจเป็นความผิดต่อผู้เช่าได้เช่นกัน
แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาข้อกำหนดในสัญญาเช่าอีกว่า มีการกำหนด ในเรื่องของสิ่งปลูกสร้างไว้อย่างไรบ้าง หากมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ที่แตกต่างไปจากหลักในเรื่องส่วนควบในที่ดินแล้ว ก็ต้องถือปฏิบัติตามนั้น เช่นกรณีเข้าข้อยกเว้นเรื่องส่วนควบ แต่ข้อกำหนดในสัญญากำหนดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ก็จะตกเป็นของผู้ให้เช่าตามสัญญาทันที ผู้เช่าจะทำการรื้อถอนไม่ได้เด็ดขาด
ดังนั้นการเช่าที่ดินก็ควรทำเป็นหนังสือและควรมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างที่จะมีขึ้นในอนาคต โดยต้องระวังว่าข้อกำหนดในสัญญานั้น ๆ ต้องไม่ขัดกับกฎหมายด้วยนะครับ.
ดินสอพอง
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน