Story Teller : เจอแล้วต้องโพสต์ ! เทรนด์มาแรงปีกระต่าย 2011 ไลฟ์สไตล์ คนรุ่นใหม่ บน โลกออนไลน์ |
bangkokbiznews.com วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554
Story Teller เจอแล้วต้องโพสต์!
โดย : นันทขว้าง สิรสุนทร
ปอกเปลือกพฤติกรรมคนชอบโพสต์ ชอบแชร์ ที่เห็นอะไรเป็นต้องเอาไปเล่าต่อ ว่ากันตั้งแต่อาหาร อารมณ์ไปจนถึงอารามวัดต่างๆ บางเรื่องคนรับก็ไม่อยากรู้
หนุ่มนักเดินทางคนหนึ่ง เล่นทวิตเตอร์ในชื่อ @komnopparat เวลาไปเจอแฟชั่นตามที่ต่างๆ เขามักจะถ่ายรูปมาลงแล้วบอกกับ followers ว่ามันคืออะไร เป็นเทรนด์อย่างไร ..เช่นเดียวกับ @arpannarai สาวคนทำงานในแวดวงโฆษณาบ้านเรา ครั้งหนึ่งเธอไปเที่ยวญี่ปุ่น และถ่ายร้านอาหารเล็กๆ น่ารักในชนบทมาลงใน facebook เพื่อแบ่งปันกับมิตรสหายในโลกออนไลน์ และไม่ไกลมากจากที่ทำงานของเธอ สาวนักทวีตอีกคนที่ใช้ชื่อว่า @amchunli ก็มักเก็บภาพปลาใต้น้ำในท้องทะเล จากกิจกรรมดำน้ำตามที่ต่างๆ
หนึ่งหนุ่มและสองสาวที่ว่านี้ ทำงานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจากเนื้อหาหน้าที่การงาน แต่จุดร่วมที่ยึดเหนี่ยวพวกเขาไว้เหมือนกัน ก็คือ การก้าวเข้าสู่ไลฟ์สไตล์ที่เราเรียกกันว่า story teller ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ "นักเล่าเรื่อง" แบบที่ สตีเว่น สปีลเบิร์ก เป็นกับหนังของเขา
หรือ เจมส์ คาเมรอน ทำกับภาพยนตร์ของเขาตั้งแต่เรื่องแรกๆ
แต่ความหมายของคำคำนี้ สถาพร สิริสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน trend setter เคยบอกกับ Go magazine ว่ามัน คือ เทรนด์ที่จะมาแรงของปีกระต่าย 2011 เขาบอกว่า คนรุ่นใหม่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์มากขึ้น ตื่นเช้ามาพวกเขาคิดถึงอีเมล คิดถึงเฟซบุ๊ค คิดถึงสเตตัส คิดถึงไทม์ไลน์ในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเทรนด์ที่ว่านี้
"คนรุ่นใหม่มีความประสงค์ในการสร้างไลฟ์สไตล์อิสระมากขึ้น ต้องการไปเที่ยวเพื่อนำมาซึ่ง story คือตอนนี้ คนไม่ได้ไปเที่ยวเพราะแค่นึกว่าจะแค่ไปเที่ยว พวกเขาไปเที่ยวเพื่อนำประสบการณ์มาแชร์กันใน social network พวกเขาจะแสวงหามุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นๆ สมัยก่อน เด็กที่จบใหม่เป็น first jobber เวลาไปเที่ยวก็ไม่กล้าพอที่จะไปแบบลุยๆ ในเมืองไทยอาจมีบ้าง แต่ถ้าจะไปเมืองนอกก็ต้องซื้อทัวร์ไป เดินตามธงเอา..ทุกคนเลยไปเห็นสิ่งเดียวกันหมด เรื่องที่มาเล่าของแต่ละคนจึงเหมือนๆ กันหมด เช่น ฉันไปฮ่องกง ไปชอปปิงที่จิมซาโจ่ย ไปพักที่โรงแรมนั้น เพื่อนก็บอก เฮ้ย ปีที่แล้ว ก็ไปเหมือนกันแบบนี้ โปรแกรมคล้ายๆ กัน"
ทัศนะของ สถาพร นั้น สะท้อนให้เห็นว่า พอมาถึงยุคที่ต่างคนต่างเป็นนักเล่าเรื่องด้วยการมีเครื่องไม้เครื่องมือของตัวเอง ข้อมูลก็จะแตกต่างกันไป แล้วแต่พื้นฐาน มุมมองและสายตาในการมองสิ่งที่เห็น และนั่นทำให้แม้แต่สถานที่เดียวกัน ก็ถูกเล่าในมุมที่ต่างกันไป
ประเด็นนี้ พรรณราย ทวีโชติกิจเจริญ ซึ่งทำงานอยู่บริษัทโฆษณา Hill & Knowlton บอกกับ "จุดประกาย" ว่า story teller เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมาก เพราะทุกคนมีเรื่องที่จะเล่าของตัวเองจากประสบการณ์
"คนทุกคนชอบรับฟังเรื่องราวของคนอื่น ทั้งดีและไม่ดี จากแต่ก่อนตอนเด็กๆ เราได้ฟังนิทาน เรื่องเล่า เริ่มจากครอบครัว คุณครู เพื่อน พอโตมาเรื่อยๆ รูปแบบก็เปลี่ยนไปจากอ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูหนัง ที่เราเป็นคนอ่านคนดูอย่างเดียว เราได้ค่อยๆ ใช้เวลาจินตนาการ คิด ทบทวนกับสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมา แต่ตอนนี้ทุกอย่าง interactive โดยเฉพาะบน social media เหมือนเป็น "เรื่องเล่ามาโชว์" เป็นพื้นที่ให้เราเข้าไปดูเรื่องคนอื่นๆ
และยังเป็นพื้นที่ให้เราแสดงตัวตนสถานะของเรา ให้เราเล่าเรื่องว่าไปไหนมา วันนี้รู้สึกอย่างไร มีความคิดยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนพร้อมบอกต่อเรื่องราวได้ทุกทางและทันที เพียงแค่คลิก share this on Facebook, email this to a friend?, Tweet This!"
เธอเล่าให้ "จุดประกาย" ฟังว่า บางทีมันก็เป็นเรื่องรู้สึกดี หากว่าใครบางคนได้ไปค้นพบหรือเจอร้านอาหารที่ไม่มีใครรู้จัก หรือบางทีไปพบร้านของตายายแก่ๆ และได้บอกกล่าวแนะนำจนเป็นที่สนใจในโลกออนไลน์
"สิ่งที่ไม่ค่อยดีในความรู้สึกส่วนตัว ก็คือ ทุกเรื่องใน social media มันถึงกันตลอด อัพเดทกันทันใจ แม้ว่าบางทีจะเร็ว จนเราไม่ได้มีเวลามานั่งนิ่งๆ ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งกับ status ที่เราโพสต์ล่าสุด สังเกตได้ว่ายิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เป็นกระแส ทุกคนพร้อมห้อยโหนคล้อยตาม ความเร็วที่มีอยู่ทำให้ทุกคนเร่งสปีดอัพเดท status เพราะในโลกของความเป็นจริง status ของคนเรากว่าจะเปลี่ยนได้ต้องใช้เวลาต้องทุ่มเทมากมาย"
จากความคิดข้างต้น เราจะได้ภาพมาอย่างหนึ่งว่า social media คือ เครื่องมือในการ "เร้า" พฤติกรรมของคนร่วมสมัย และในขณะที่มัน "เร้า" มันก็ค่อยๆ "สั่งสม" และ "สร้าง" รูปแบบของไลฟ์สไตล์แบบหนึ่งขึ้นมา ซึ่งก็คือแนวทางของ story teller
ทวีวัฒน์ พูลชัยวิลัยศักดิ์ ซึ่งเป็น Business Director ; OgilvyAction ให้ความเห็นว่า เทรนด์ที่เรากำลังเห่อฮิตตัวนี้ มองได้หลายมุมเหมือนกัน ไม่ได้มีด้านดีอย่างเดียวหรือเป็นมุมลบเท่านั้น
"ส่วนตัวคิดว่าการ sharing ใน facebook ระหว่างเพื่อนก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เหมือนเป็นการได้บอกเล่าเรื่องราวของเราให้กับเพื่อนๆ ฟัง มุมหนึ่งมันก็คิดว่ามันเป็นการรับรู้เรื่องของเพื่อนฝูง แต่บางมุมก็รู้สึกว่ามันเยอะไป เรื่องบางเรื่อง จะกินอะไรก็ไม่ได้อยากรู้ แต่มันก็มีข้อดีที่ว่าทำให้เราได้รู้จักร้านอาหารที่เพื่อนไป หรือประเภทของอาหารที่เพื่อนกิน สถานที่ท่องเที่ยวที่เราอาจจะไม่เคยไป มุมถ่ายรูปที่สวย ๆ แต่บางทีก็มีแอบเบื่อ ถ้าเพื่อนบางคนโพสต์รูปตัวเองอยู่ตลอดเวลา จำหน้ากันได้แล้ว คิดว่าชอบแต่ผู้ใช้ก็ต้องมีความระมัดระวัง เพราะ FB กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวแบบสาธารณะ"
"ถ่าย" ก่อนชิม
สถาพร พูดใน go mag ว่า ตอนนี้คนธรรมดา (nobody) ไม่ต้องรอให้ตัวเองทำงานสื่อแล้ว เพราะว่าทุกคนมี "มีเดีย" ของตัวเอง ถ้าทวีตดีๆ ก็กลายเป็นใครสักคน หรือ somebody ขึ้นมาเองได้ ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ก็คือ วัฒนธรรมการมี "ตัวตน" นั้น สามารถปรากฏขึ้นได้ในโลกของ social network หรือไลฟ์สไตล์แบบนี้
ภาณุ อิงคะวัต "กูรู" ด้านเทรนด์และดีไซน์แห่งค่ายเกรย์ ฮาว์ด เคยให้สัมภาษณ์กับ "จุดประกาย" ว่า ตอนนี้โลกยุคใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงพลิกผันเร็วมาก และแน่นอนว่า ด้านหนึ่งคนยุคนี้ก็จะมีความเป็น individual มากขึ้น ไม่ต่างอะไรจากการลิงค์ตัวเองกับแบรนด์ของที่กินที่ใช้ ซึ่งต้องแสดงถึง "ความเป็นตัวของตัวเอง"
"ไม่ใช่แค่แบรนด์เสื้อผ้า ที่ผู้ใส่ต้องการจะบอกว่าฉันคือใคร แต่ตอนนี้ไลฟ์สไตล์หลายอย่างก็ต้องทำหน้าที่นี้ คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไร มันต้องมีเสียงของตัวเองว่าเราคือใคร แบรนด์นี้ของฉัน อันนี้คือตัวฉัน โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คุณมาท่องเที่ยวแบบถือธงตลอดเวลาไม่ได้หรอก ตอนนี้ใครค้นพบอะไรที่พิเศษ ยิ่งทำให้คนนั้นรู้สึกดี แต่ถามว่าอะไรเปลี่ยนโลกไปขนาดนี้ ก็ต้องบอกว่า social media เข้ามาสร้างและทำให้เทรนด์อะไรก็ตาม เปลี่ยนแปลงเร็วตลอดเวลา..."
ดูเหมือนว่า เมื่อ story teller กำลังโถมตัวรุนแรงใส่ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ สิ่งที่สะสมพฤติกรรมร่วมกันไปด้วยนั้นมีหลายอย่างจากชีวิตแต่ละวัน...
ศุจิกา จันทรศักดิ์ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในชื่อ @sujiga ตั้งข้อสังเกต ว่า เมื่อถึงวันหนึ่งที่ทุกอย่างลงตัว อาจเป็นไปได้ว่า ไลฟ์สไตล์แบบนี้ก็จะพัฒนากลายมาเป็นสินค้าทางการตลาดตัวหนึ่ง
"ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ในเมื่อ trend story teller เป็นอะไรที่มาแรงและคนมากมายกำลังสนุกกับมัน วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะมีกล้องถ่ายรูป หรือร้านอาหาร เข้ามาเป็นสปอนเซอร์เพื่อชี้ทางไปสู่มาร์เก็ตติ้ง เพราะจะพบว่าระยะหลังๆ กล้องเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือถ่ายรูป แต่มันเหมือนกับหลายสินค้า ที่ถูกทำให้เป็นแฟชั่น คือ มันข้าม function ตัวเอง และกระโดดไปสู่การเป็น fashion ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ มันก็อาจจะมีกล้องที่ถ่ายเร็ว อัพปุ๊ปปั๊ป และมีเทคนิคพิเศษปรับค่าสี แต่งรูปจากโต๊ะอาหารในเวลา 2 วินาที แบบที่หนังบางเรื่องเคยนำเสนอในอดีต"
"ไลฟ์สไตล์ขบวนหลักเปลี่ยนสีสันไปเลย อย่างการกิน เห็นชัดเจนจากการรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่ก่อนไม่เห็นมีความจำเป็นต้องถ่ายรูปอาหารหรือเครื่องดื่ม ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเหลียวมองไปโต๊ะไหน ก็มักจะเจอวัฒนธรรมการถ่ายรูปอาหารและเครื่องดื่มด้วยโทรศัพท์มือถือก่อนเริ่มรับประทานอาหารแทบทั้งนั้น ยิ่งถ้าร้านแปลกๆ เมนูพิเศษๆ ไม่มีไม่ถ่าย การถ่ายรูปจึงเหมือน "พิธีกรรมบางอย่าง" ที่จะทำให้รสชาติอาหาร "อร่อยขึ้น" นอกจากนี้ อาจจะต้องถ่ายหลายมุม หลายชอต เพื่อให้ได้ภาพที่แสดงความน่ากินมากที่สุดเหมาะกับการอัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊ค ยั่วน้ำลายให้เพื่อนอิจฉาเล่น"
"หรืออย่างในเรื่องการเที่ยว เราสามารถหาข้อมูลด้วยตัวเองได้ง่ายและเร็วขึ้น สังเกตจากวันเดย์ทริปได้รับความนิยมมากขึ้น รูปแบบโดยรวมอาจจะไม่ถูกปรับเปลี่ยนไปสักเท่าไร การถ่ายรูปมากมายเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่น่าจับตามอง คือ เนื้อหาของการไปเที่ยว แต่ก่อนคนเราไปเที่ยวเพื่อเที่ยวจริงๆ ไปอยู่กับต้นไม้ อยู่กับทะเล ไปดื่มด่ำกับบรรยากาศความงามของสถานที่แห่งนั้น ตอนนี้วัตถุประสงค์การไปเที่ยวได้ถูกเพิ่มเติมด้วยเหตุผลเพียงเพราะจะไปถ่ายรูปสวยๆ เก๋ๆ อัพโหลดลงเฟซบุ๊ค เพื่อประกาศให้คนอื่นรับรู้ว่าฉันมาที่นี่แล้ว บางครั้งทำให้เกิดคำถามว่าเรากำลังละเอียดอ่อนกับชีวิตน้อยลงไป"
ศุจิกา ไม่ได้มองว่ามันมีแต่ด้านดี เพราะสิ่งที่น่าเสียดายก็มี เช่น ..
"ที่น่าจะเห็นกันบ่อยๆ คือ คนรักกันหรือเพื่อนมารับประทานข้าวด้วยกัน แต่ไม่คุยกัน ต่างคนต่างเล่นบีบี ไอโฟน ระหว่างรับประทานอาหารตลอดเวลา ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วมารับประทานข้าวด้วยกันทำไม เหมือนจะได้ใช้เวลาด้วยกัน แต่ไม่ได้ใช้ด้วยกันจริงๆ เรากำลังละเลยช่วงเวลาที่ดีที่ควรให้ซึ่งกันและกันไป"
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20110210
|