Home » เรารักในหลวง ทรงพระเจริญ » ประมวลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ประมวลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

     ประมวลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  
   ขนาด (กว้าง X สูง) 1385 x 923 พิกเซล จำนวน 62 หน้า
     จัดทำโดย Phlii Udompornmontri

             Open  flash ebook                        Open pdf file

                                                                      

           ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎร นอกจากแผนที่อันเป็นอุปกรณ์คู่พระราชหฤทัยแล้ว อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ที่อยู่เคียงกันไปในทุกแห่ง ไท่ว่าจะเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฏร เสด็จไปทรงงานตามพื้นที่ต่างๆหือแม้แต่เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราชเพื่อรักษาพระอาการประชวร

          พระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายภาพนี้ทรงได้ต้นแบบมาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบ รมราชชนนี มาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โดยทรงเริ่มจากกล้องถ่ายภาพชนิดที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัว ทำให้ต้องใช้พระราชวิจารณญาณอย่างละเอียดรอบคอบ และพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง

          นอกจากนี้ยังทรงใช้พื้นที่บริเวณชั้นล่างอาคารสถานีวิทยุ อ.ส.เป็นห้องมืดสำหรับล้างฟิล์ม และอัดขยายภาพ ตามพระราชประสงค์ที่จะทรง สร้างภาพ ให้เป็นศิลปะถูกต้อง และรวดเร็วด้วยพระองค์เอง
          แต่เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ จึงเปลี่ยนรูปแบบจากงานถ่ายภาพสวยงามเพื่อศิลปะมาเป็นภาพถ่ายที่ทรงใช้เพื่อ ประกอบการทรงงานของพระองค์
          ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงถ่ายภาพเพื่อศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศชาติ นำความผาสุขร่มเย็นมาสู่ประชาชนชาวไทยได้อย่างดี

         การถ่ายภาพเป็นศิลปะอีกสาขาหนึ่งที่ในหลวงทรงสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจัง พระองค์ทรงศึกษา และทรงฝึกด้วยพระองค์เองตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ กล้องถ่ายภาพที่ทรงใช้ในระยะเริ่มแรกเป็นกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัว จึงต้องใช้พระราชวิจารณญาณอย่างรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน

           แม้ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพจะมีวิวัฒนาการขึ้นกว่าสมัยก่อนมากแล้ว แต่พระองค์ก็มิทรงใช้ พระองค์ยังทรงใช้กล้องคู่พระหัตถ์แบบมาตรฐาน อย่างที่นักเลงกล้องรุ่นเก่ามือโปรทั้งหลายใช้กันอยู่

           ในหลวงทรงเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพทั้งภาพขาวดำและภาพสี พระองค์ทรงมีห้องล้างฟิล์ม(Dark Room) ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะทรง "สร้างภาพ" ให้เป็นศิลปะ ด้วยเทคนิคใหม่ๆ และรวดเร็วด้วยพระองค์เอง

            แต่เพราะสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป ในหลวงซึ่งมีพระราชหฤทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใย พสกนิกร จึงทำให้พระองค์ไม่มีเวลาสำหรับการคิดค้นเทคนิคใหม่ๆในการถ่ายภาพ และรวมไปถึงการสร้างศิลปะแขนงอื่นๆได้อีก จะทรงถ่ายภาพได้ก็แต่เฉพาะทรงใช้เพื่อประกอบการทรงงานของพระองค์

              จะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ จังหวัดใด ก็จะทรงมีกล้องถ่ายภาพติดพระองค์ไปด้วยเสมอ โปรดถ่ายภาพสถานที่ทุกแห่งเพื่อทรงเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบงานที่ได้ทรงปฏิบัติ

              ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านี้ จึงมักเป็นภาพถ่ายแบบฉับพลัน ทันเหตุการณ์ ซึ่งถ่ายได้ครั้งเดียวด้วยไหวพริบ ไม่มีเวลาจ้องหามุมถ่าย แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ปวงชนชาวไทยจึงได้เห็นภาพฝีพระหัตถ์อันคมชัดและมีศิลปะในการจัดองค์ประกอบของภาพ

            

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

สามัคคี 4 พระหัตถ์

ทูลกระหม่อม 4 พระองค์ทรงวางพระหัตถ์ขวาเรียงเทียบขนาดกันไว้ ทรงฉายภาพ “พระหัตถ์ใหญ่พระหัตถ์เล็ก” ที่ทรงวางเรียงลำดับไว้ เสมือนเป็นการทรงสมานสามัคคีระหว่าง "พี่ๆ น้องๆ" พระหัตถ์ไหนเป็นของทูลกระหม่อมพระองค์ใด ขอให้ตั้งใจพิจารณา ลองทายกันดู ไหนเป็นของทูลกระหม่อมพระองค์ใด ขอให้ตั้งใจพิจารณา ลองทายกันดู

ดั่งโค้งสำคัญ

พระฉายาลักษณ์อันเป็นพระราชประวัติครั้งสำคัญส่วนหนึ่งของทั้งสองพระองค์ ที่ทรงบันทึกภาพไว้อย่างประณีตบรรจง ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ภาพพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งยังเป็น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาคนโตของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (ม.จ. นักขัตมงคล กิติยากร) เมื่อครั้งทรงเป็นอัครราชทูตประจำกรุงปารีส เมื่อ 20 เมษายน 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงเยี่ยมที่สถานทูต และได้ทรงถ่ายภาพ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กำลังยิ้มแย้มสดชื่น ในรถยนต์พระที่นั่ง

ที่กลางทุ่งดอกไม้

เมื่อปี 2503 ขณะที่ยังประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คราวหนึ่งเสด็จฯ ไปยังทุ่งกว้างบนเนินเขาแห่งหนึ่ง บริเวณเป็นทุ่งโล่งกว้างไกล อากาศสดชื่นแจ่มใสดียิ่งนัก ณ บริเวณนี้มีต้นไม้ใบหญ้าสารพัดกำลังออกดอกบานสะพรั่งเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาทรงเลือกเก็บดอกไม้สีขาวมากำไว้ในพระหัตถ์ซ้าย พอเอื้อมพระหัตถ์ขวาจะทรงเก็บดอกต่อไป พระราชอิริยาบถที่กำลังทรงเงยพระพักตร์ขึ้นเล็กน้อยและทรงแย้มพระสรวลนั้นงดงาม เป็นด้านที่เป็นศิลปะและเหมาะกับมุมกล้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงบันทึกภาพไว้ทันที


ที่เรียกว่าเป็นศิลปะ ได้แก่ ท้องฟ้าสีอ่อนนวล เทือกเขาไกลๆ ได้โครงสร้างเป็นเส้นเอียงเฉียงทางซ้ายและขวา ต่างนำสายตาของผู้ชมมาหาจุดเด่นของภาพ คือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ต่อจากนี้ถ้าจะดูให้ละเอียดขึ้นไปอีก ขอให้ดูที่เส้นของต้นไม้และดอกไม้ ต่างเอนยอดเข้าหาจุดเด่น เป็นการช่วยเน้นพระฉายาลักษณ์องค์นี้ให้เด่นด้วยเส้นสีแห่งศิลปะ และเน้นรอยแย้มพระสรวล ที่อ่อนโยนเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้

แสงนวลนุ่ม

พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาชุดหนึ่งที่มีแสงนุ่มนวล เป็นศิลปะที่งามซึ้งตรึงใจ และแสดงเอกลักษณ์ศิลปะการถ่ายภาพส่วนพระองค์ที่ทรงมีอย่างเยี่ยมยอดวิธีหนึ่ง

ทรงใช้แสงถ่ายภาพอย่างภาษาทางวิชาการ เรียกว่า แสงตามสภาพ (Available light, existing light) คือวิธีที่ทรงถ่ายภาพในแสงสว่างเท่าที่มีอยู่ในที่แห่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดดหรือแสงไฟภายในพระตำหนักหรือในพระที่นั่ง จะทรงใช้แสงและเงาให้ได้ส่วนสัมพันธ์กันอย่างพอเหมาะพอดีทุกที่ไป 


ภายในเครื่องบินพระที่นั่ง แสงสว่างจากภายนอกทรงใช้เป็นแสงหลัก (Main light) แสงนวลส่องสว่างที่พระพักตร์พอเรือง ๆ ดูที่ขอบหน้าต่างมีเงาสีเข้มสลับกับแสงสว่าง ที่พระมาลา ด้านหน้าอ่อนด้านหลังสีดำ สลับสีอ่อนเข้มของฉากหลัง ตรงนี้มีจังหวะที่น่าสนุก แล้วมองเลยมาที่ฉากหน้า เป็นแสงเหมือนจะช่วยหนุนให้ภาพนุ่มและลอยเด่น ทั้งให้ความรู้สึกหนาวเย็น บางเบา คล้ายกำลังประทับอยู่ในไอละอองของความฝัน

ที่กรุงลอนดอน

เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินกรุงลอนดอน เมื่อปีพุทธศักราช 2509 ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ ไปยังที่ต่างๆหลายแห่ง ถ้าทอดพระเนตรแห่งใดเป็นที่สวยงามต้องพระราชหฤทัย จะทรงใช้เป็นฉากฉายพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอยู่เสมอ

ในการฉายจะทรงใช้ภูมิทัศน์ แสงสีและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ด้วยพระปรีชาสามารถทางศิลปะภาพถ่าย พระราชอิริยาบถของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีพระพักตร์งามสดใสเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาบารมี คล้ายพระองค์จริงประทับอยู่ฉะนั้น

ที่กรุงลอนดอน

ที่กรุงลอนดอน

ที่กรุงลอนดอน

สงบ

แสงเงานุ่มนวลจับตากำลังพอดี เป็นภาพอีกภาพหนึ่ง ซึ่งได้ลักษณะถูกต้องตามหลักการให้แสงแบบคลาสสิค ที่เรียกว่า lighting of Rembrandt

พระพักตร์ได้แสงสว่างแต่พอเลือนราง ตรงแสงนั้นได้เห็นพระอารมณ์ที่ทรงแย้มพระสรวลน้อยๆ ภาพให้อารมณ์อ่อนหวานนุ่มนวล แต่หนักแน่นลึกซึ้ง ที่ฉากหลังบริเวณพื้นโดยรอบทำให้หนักเล็กน้อย พอถึงตรงกลางเว้นให้สว่างขึ้นหน่อย ลักษณะพื้นภาพแบบนี้เป็นการช่วยเน้นจุดเด่นให้ชัด เน้นให้เห็นพระอารมณ์ในภาพ และเน้นให้เห็นบรรยากาศอันทึมเทาเลือนราง คล้ายกับกำลังประทับอยู่ในสถานที่อันวิเวก อิ่มเอิบพระราชหฤทัยในแดนแห่งความสงบ

เมื่อหน้าหนาว

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในฉลองพระองค์กันหนาวชุดสีเข้ม ทรงยืนอยู่ด้วยพระอารมณ์สดชื่นแจ่มใส ในขณะที่ทรงเป็นแบบสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงฉายพระฉายาลักษณ์ 

ทรงใช้ห้องบนพระตำหนักจิตรลดาฯ เป็นฉากสำหรับทรงถ่ายภาพ

แม่ของชาติ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงกอดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารีแนบไว้กับพระอุระ ลักษณะที่ทูลกระหม่อมเล็กกำลังซุกพระอุระสมเด็จพระราชมารดาอยู่นี้ เห็นแล้วรู้สึกเป็นสุข อบอุ่นอย่างที่สุด ความสุขของลูก ความสุขของแม่ ความสุขของครอบครัว เป็นความสุขอันสุดประเสริฐ 

เป็นภาพที่มีเส้นโครงสร้าง (structure) สวย และให้อารมณ์แสดงออก (expression) ได้เหมือนภาพชีวิต ที่เรียกว่าเส้น โครงสร้างคือเส้นนำสายตาไปหาจุดเด่นในภาพนี้ โดยเริ่มต้นที่พระพักตร์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้วมองลงมาทางขวาโค้งไปหาพระพักตร์ทูลกระหม่อมเล็ก ตรงนี้เส้นจะม้วนเป็นก้นหอย (Spiral Curve) ปลายเส้นคือจุดเด่นของภาพภาพนี้ มีดีเป็นพิเศษอยู่ตรงจุดจะเริ่มต้นที่เส้นบนหรือล่างของภาพก่อนได้ทั้งนั้น และดูต่อไป ให้ดูที่อารมณ์พระเนตรของทูลกระหม่อมเล็ก ฉายให้เห็นว่าทรงอบอุ่นเป็นสุข ความสุขของลูก อยู่ที่ได้อบอุ่นในอกแม่

คู่ดาว

เมื่อคราวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2512 วันหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ในบริเวณสวนดอกไม้ข้างพระตำหนักเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังทอแสงเรื่อเรืองอยู่ในระดับยอดไม้ มุมหนึ่งที่แสงอาทิตย์ส่องลอดยอดไม้ เป็นประกายระยิบวูบวาวราวกับแสงดาวดวงโตๆ

ก็พอดีกับที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงประดับพระกุณฑลรูปดอกไม้ที่มีกลีบบาน เป็นแฉกคล้ายประกายดาว ทันทีที่ทอดพระเนตรเห็นพระกุณฑลกับแสงอาทิตย์ได้คู่สอดคล้องกัน ก็ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ไว้

ทรงได้ภาพที่มีช่วงความคมชัดตลอดทั้งภาพ คือคมชัดทั้งองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถซึ่งประทับอยู่ใกล้ๆ และแสงอาทิตย์ที่มีลักษณะเหมือนแสงดาว ทั้งนี้ก็ด้วยทรงใช้เทคนิคการเปิดหน้ากล้องขนาดเล็ก เพื่อให้ภาพมีช่วงความชัดตลอดทั้งภาพนั้นอย่างหนึ่ง กับให้ดวงอาทิตย์เกิดแสงประกายเจิดจ้าแจ่มใสคล้ายแสงดาวอีกอย่างหนึ่ง

เมื่อทรงได้ภาพแล้ว จึงทรงตัดส่วนภาพ (Crop) ด้วยพระอัจฉริยภาพทางศิลปะ ทรงเน้นให้เห็นเฉพาะพระเกศาพระกุณฑล ให้ได้คู่ล้อรับกับแสงอาทิตย์ พระกุณฑลประดับพระกรรณ ดวงดาวประดับฟ้า ... พระกุณฑลจึงเคียงคู่อยู่กับดาว ... คู่ดาว

ตามรอยพระยุคลบาท

ในป่าดอยอันเป็นถิ่นทุรกันดาร ถึงแม้จะมีทางเดินตัดผ่านให้สัญจรไปมาได้สะดวกขึ้นแล้วก็ตาม ครั้นถึงหน้าฝน ฝนตกแฉะ ทางจะลื่น บางแห่งเป็นโคลนตมจนกลายเป็นหล่มเป็นเลนก็มี เดินเข้าไปเมื่อใดเป็นได้หกล้มจมปลักกันหลายครั้งหลายหน

วิริยะ จึงมิทรงย่อคราวหนึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงตามเสด็จสมเด็จพระชนกนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารด้วย วันนั้นมีฝนพรำทำให้น้ำป่าบ่าไหล หนทางเปียกแฉะ เป็นเหตุให้ทรงพระราชดำเนินด้วยความลำบาก ตลอดทางจึงทรงลื่นล้มไปหลายครั้ง แต่ด้วยพระราชอุตสาหะท้อแต่ประการใด

ทั้งนี้เป็นผลของพระเมตตาบารมีแห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกชนนี ผู้ทรงอบรมสั่งสอนพระราชโอรสพระราชธิดาให้มีพระอุปนิสัยหนักแน่น อดทนต่อความทุกข์ยากและอุปสรรคทั้งมวล เพื่อจะได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของปวงพสกนิกร เป็นการเจริญรอยตามพระยุคลบาทสืบไป

จ้อง 

เมื่อคราวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักไกลกังวลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ่ายวันหนึ่งทรงขับรถพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง เพื่อจะได้ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่อันแท้จริงของพสกนิกรทั้งหลายในละแวกนั้น

ระหว่างทางที่เสด็จฯ ผ่านไปตามถนนในชนบทชายป่า ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กชาวบ้านสองคน เด็กทั้งคู่ไม่ได้สวมเสื้อ เด็กผู้ชายเอามือเท้าสะเอวมองจ้องมา ฝ่ายหญิงกำลังกินขนมยืนจ้องนิ้วจุกปากด้วยความสงสัย เป็นที่สนพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงถ่ายภาพไว้ทันที 

เป็นศิลปะภาพถ่ายประเภทที่เรียกว่า ภาพชีวิต (Human interest) มีชีวิตจริงๆ มองทีไรจะเห็นสายตาเด็กจ้อง นิ้วจุกปากอยู่ร่ำไป ยังไม่ได้เคลื่อนไหวและยังไม่ได้กินขนมต่อสักที

นอกจากมีศิลปะดียิ่งแล้ว ผู้ชมภาพทุกคนต่างซาบซึ้งในพระเมตตาบารมีที่ทรงสนพระราชหฤทัยต่อความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึง โดยมิได้ทรงเว้นแม้กระทั่งเด็กชาวบ้านชนบท

ในหมู่เมฆ

กลุ่มเมฆลอยเป็นวงกลมอย่างพอดิบพอดี เครื่องบินสองลำบินเข้าไปในเขตวงกลม มองตามทิศทางที่เครื่องบินบินไป จะเห็นได้ว่า มีเนื้อที่เว้นช่องไฟไว้ข้างหน้า อย่างที่เรียกกันว่า "เปิดหน้า" พอดี ลักษณะนี้ทางศิลปะนิยมว่า ได้เส้นแรงดีนัก

ตามหลักศิลปะการจัดภาพ กำหนดให้เครื่องบินเป็นจุดเด่น กลุ่มเมฆรายรอบเป็นภาพ ส่วนประกอบของจุดเด่น คือเครื่องบินมีสีหนักเข้ม จึงมองเห็นเด่นในกลุ่มเมฆสีขาว ไม่แต่เท่านั้น ยิ่งมองไกลไปถึงพื้นแผ่นดิน เห็นทุ่งนาป่าเขา แม่น้ำลำคลองอยู่ไกลสุดสายตา เป็นภาพที่แจ่มกระจ่างและลิ่วโล่งโปร่งไกลดี การถ่ายภาพทางอากาศแบบนี้จะถ่ายให้ดีและได้ภาพกระจ่างสดใสอย่างนี้ ทำได้ยากยิ่งนัก 
 


ทรงถ่ายภาพนี้ระหว่างที่ประทับอยู่บนเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จฯ ไปจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2527 เครื่องบินสองลำนี้ เป็นเครื่องบินคุ้มกันของกองทัพอากาศไทย ปฏิบัติการบินถวายอารักขา ตลอดเส้นทางระหว่างดอนเมืองถึงเชียงใหม่ พอทอดพระเนตรเห็นจังหวะที่ได้เส้นได้มุมเป็นศิลปะ จึงทรงบันทึกภาพไว้ได้อย่างสวยงาม

  

  

  

  

 

ที่มา http://www.oknation.net/blog/prisanasweetsong/2009/12/04/entry-1