Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
วีดีโอถ่ายทอดสด ภาพและข่าว ในหลวงเสด็จฯ เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และสะพานภูมิพล 24 พ.ย. 53 |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค
|
|
|
ข่าว 3 มิติ ช่อง 3
VDO ในหลวง ทรงเปิด ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และสะพานภูมิพล 1 และภูมิพล 2
บรรยายกาศประชาชนเฝ้ารับเสร็จในหลวงเสด็จเปิดประตูน้ำคลองลัดโพธิ์
ข่าวไทยรัฐออนไลน์ วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2553
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 และภูมิพล 2 ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยมีพสกนิกรเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างเนืองแน่น...
เมื่อเวลา 17.34 น. วันที่ 24 พ.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเรือพระที่นั่งอังสนา ไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราชไปยังท่าเทียบเรือสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช เรือพระที่นั่งอังสนา ถึงบริเวณปากคลองประตูระบายน้ำ คลองลัดโพธิ์ ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง โดยเมื่อเรือพระที่นั่งเทียบท่า พสกนิกรจำนวนมากที่เฝ้ารอรับเสด็จฯ ต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้องยาวนาน
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทับพระหัตถ์บนแท่นที่ฉายภาพแผนที่ เพื่อทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และสะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 ทอดพระเนตรวิดีทัศน์เทคนิคพิเศษเล่าเรื่องประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์โดยการ แสดง PYRO TECHNIQUE ด้านหลังของประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ทอดพระเนตรวิดีทัศน์เทคนิคพิเศษเล่าเรื่องสะพานภูมิพล 1 สะพาน ภูมิพล 2 โดยการแสดง PYRO TECHNIQUE ประกอบแสงสีเสียงบนสะพานภูมิพล
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่ได้มีการพระราชดำริให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จังหวัดสมุทรปราการ กระทรวงคมนาคม กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ร่วมกันพิจารณาวางโครงการปรับปรุงและขุดลอกคลองลัดโพธิ์ พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบ ตามความเหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในปี 2545 แล้วเสร็จในปี 2549
จากนั้นได้เริ่มระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลหลากจากทางตอนบนในช่วงฤดูน้ำหลาก และเป็นการเสริมการระบายน้ำจากคลองธรรมชาติต่างๆ ที่ระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมาก สามารถระบายลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดเหตุอุทกภัยดังที่เคยเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน
นอกจากประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์จะให้ประชาชนในด้านการเร่งการระบายน้ำแล้ว ยังมีประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ โดยกรมชลประทานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาวิจัยการพัฒนากังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใช้ความเร็วของกระแสน้ำที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ซึ่งจะเป็นต้นแบบและขยายผลให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มพลังงานไฟฟ้าให้ประเทศ และประชาชนได้อีกหนทางหนึ่ง
ในส่วนงานของกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และปรับปรุงถนนสายหลักที่เกี่ยวข้องให้เป็นโครงข่ายถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ที่เชื่อมต่อระหว่างท่าเรือกรุงเทพกับพื้นที่อุตสาหกรรมของจังหวัด สมุทรปราการและภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ รองรับการขนสินค้าของรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องวิ่งผ่านเมือง
กระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินการในปี 2544 และแล้วเสร็จในปี 2549 จากนั้นได้เปิดการจราจรเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นผลให้การจราจรบริเวณนี้มีความคล่องตัว สะดวกและรวดเร็วขึ้นเป็นอย่างมาก
สำหรับคลองลัดโพธิ์ เป็นคลองขุดเชื่อมคลองคุ้งน้ำเจ้าพระยา หรือคุ้งบางกระเจ้า ช่วงด้านใต้เมืองพระประแดง ซึ่งเป็นลักษณะแม่น้ำอ้อมที่มีความยาวถึง 18 กิโลเมตรให้เหลือเพียง 600 เมตร โดยเป็นคลองที่ขุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อย่นระยะทางเดินเรือจากกรุงศรีอยุธยาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาให้สั้นลง คลองลัดโพธิ์มีสภาพเป็นคลองขนาดเล็กและตื้นเขิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2538, วันที่ 29 พ.ค. 2543 และวันที่ 20 ก.ย. 2545 ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขั้นแรกนั้นให้ดำเนินการขุดลอกคลองพร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อใช้เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมาเป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม บริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนอาคารระบายน้ำซึ่งสามารถบังคับได้นั้น เมื่อน้ำทะเลหนุนให้ปิดประตูกั้นน้ำเค็มเพื่อชะลอเวลาไหลย้อนขึ้นมากทาง เหนือน้ำ และเมื่อน้ำลงให้รีบเปิดประตูเพื่อการระบายน้ำอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังช่วยย่นระยะทางระบายน้ำได้ถึง 18 กิโลเมตร
ในการนี้ กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ ดำเนินการขุดลอกคลองลัดโพธิ์และก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านคลองลัดโพธิ์ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2549 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสเพิ่มเติมให้กรมชลประทาน ศึกษาพิจารณาแนวทางในการนำพลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองลัดโพธิ์ไปใช้ทำ ประโยชน์ด้านอื่นๆ กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์ด้านไฟฟ้าพลังน้ำ และการปรับปรุงคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างช่วงฤดูแล้ง ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้เริ่มทดลองเดินกังหันพลังน้ำต้นแบบ เพื่อเป็นต้นกำลังไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวร เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2551 ซึ่งได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตถ์ และได้ขยายผลดำเนินการติดตั้งกับประตูน้ำที่อื่นๆ ของกรมชลประทานที่มีศักยภาพพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ เช่น ประตูระบายบรมธาตุ ประตูระบายพลเทพ และประตูระบายมโนรมย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระราชดำเนินให้จัดทำโครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อ 2538 แล้วในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการแก้ไข ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในเขต จ.สมุทปราการ เนื่องจากรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถยนต์อื่นๆ ใช้แพขนาดยนต์ข้ามมาจาก อ.พระประแดง เป็นจำนวนมาก โดยก่อสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เชื่อพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คือในเขต จ.สมุทรปราการ กับท่าเรือกรุงเทพเขตคลองเตย ในการนี้ กรมทางหลวงชนบทได้สนองพระราชดำริ โดยจัดทำโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม มีความยาวประมาณ 25 กิโลเมตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์โครงการฯ เมื่อวันที่ 29 พ.ค 2543 ณ บริเวณพลับพลาพิธี ถนนพระรามที่ 3 เขตยานนาวา กทม.