
เรื่องราวสำคัญเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทำให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในหัวใจของประชาชนคนไทย ครอบคลุมตั้งแต่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์ที่ประชาชนทั่วไปไม่รู้
-
พระนาม "ภูมิพลอดุลยเดช" นั้น พระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2470
-
เริ่มทรงฉลองพระเนตรขณะพระชนมพรรษายังไม่เต็ม 10 พรรษา
-
"ในห้วงเวลานั้น แผ่นดินเกลื่อนไปด้วยความโศกสลด"
-
ข่าวคราวพระราชชนนีไม่ไยดีต่อพระกระยาหาร หรือภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ทรงกันแสงเป็นพักๆ ในงานพระบรมศพนั้นทำให้คนไทยน้ำตานองหน้า
-
วันหนึ่งระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปเคารพพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราชที่พระที่ นั่งดุสิตมหาปราสาท หนึ่งในหมู่ประชาชนซึ่งมารอรับเสด็จได้กราบบังคมทูลฯว่า
ต่อไปนี้ไม่มีในหลวงแล้ว" จึงมีรับสั่งปลอบใจประชาชนว่า "ในหลวงยังอยู่ พระอนุชาต่างหากไม่มีแล้ว"
***
รักแรกพบของในหลวงและ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส
ในปี พ.ศ.2521 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระ บรมราชินีนาถ พระราชทานสัมภาษณ์ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "ขวัญของชาติ" ออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี กรุงลอนดอน ตอนหนึ่งว่า "สำหรับข้าพเจ้า เป็นการเกลียดแรกพบมากกว่ารักแรกพบ เนื่องเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าจะถึงเวลาบ่ายสี่โมง แต่จริงๆ แล้วเสด็จฯมาถึงหนึ่งทุ่ม ช้ากว่าเวลานัดหมายตั้งสามชั่วโมง
"ทรงทำให้ข้าพเจ้าต้องซ้อมถอนสายบัวอยู่จนแล้วจนเล่า จึงเป็นการเกลียดเมื่อแรกพบมากกว่า"
***
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสมีขึ้นที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 นับเป็นครั้งแรกสำหรับพระมหากษัตริย์ไทยในยุคประชาธิปไตยที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทย
นายฟื้น บุณยปรัตยุธ นายทะเบียนในวัน พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
"...สมุดทะเบียนสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นพิเศษ ปกสมุดหุ้มด้วยหนังแกะอ่อนสีเหลืองเข้ม กลางปกเป็นหนังสีน้ำตาล มีอักษรตัวทองบอกว่า เป็นสมุดทะเบียนสมรส ข้อความในสมุดทะเบียนทุกอย่างคงเป็นเหมือนสมุดทะเบียนสมรสทั่วไป...
"ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยแท้ เกี่ยวกับการจดทะเบียนนี้ พระองค์ท่านทรงทำตามระเบียบทุกอย่าง ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท ตามระเบียบถูกต้อง"
***
ในงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้เข้าร่วมพิธีจะได้รับพระราชทานของที่ระลึก คือ หีบเงินเล็ก ซึ่งบนฝาหีบประดับด้วยอักษรพระบรมนามาภิไธย ภอ และพระนามาภิไธย สก
 |
***
ในระหว่างทรงผนวช มีประชาชนธรรมดาสามัญไม่กี่รายที่มีโอกาสใส่บาตรให้พระองค์
เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นโดยมิได้มีการกำหนดล่วงหน้า คุณยายสุมน ภมรสูตร เล่าเหตุการณ์วันที่ได้ใส่บาตรถวายในหลวงเหตุเกิดเมื่อ ปี 2499 ว่า
"ทรงมารถเก๋งดำ เสด็จฯผ่านถนนเพชรบุรีฯ เพื่อจะไปรับบาตรจากสมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่วังสระปทุม ทีนี้พอทอดพระเนตรเห็นคนแก่ก็ทรงให้จอดรถลงรับบาตร
"ทีแรกยายไม่รู้ว่าเป็นในหลวง แต่แปลกใจว่าทำไมพระรูปนี้ลงมาจากรถ ตอนนั้นทรงสวมแว่นดำ พระบาทเปล่า มีพระพี่เลี้ยงลงมาด้วย ยายก็...เอ๊ะ เดี๋ยวเดียวมีคนข้างหลังบอกว่าพระเจ้าแผ่นดิน โอ้โห ยายงี้ขนลุกปลื้มปีติ วันนั้นยายตื่นเต้นทั้งวัน"
***
บทเรียนจากอีกา
"...ประชากรชาวสวนจริงๆ นี้มีเพิ่มเติมขึ้น แต่ก่อนนี้มีอีกา มีนกพิราบ แต่เดี๋ยวนี้มีหงส์ ทั้งขาว ทั้งดำ และมีนกกาบบัว มีนกยูง เพิ่มเติมขึ้นมา เมื่อดุลของธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ก็จะต้องมีการทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่บ้าง แต่ก่อนนี้อีกาเป็นใหญ่ อีกาจะตีนกพิราบ และนกพิราบก็จะตีนกเอี้ยง นกเอี้ยงก็จะตีกระจอก ส่วนนกกระจอกก็ไม่ทราบว่าจะไปตีใคร จนกระทั่งเดี๋ยวนี้รู้สึกว่านกกระจอกจะสูญพันธุ์ แต่ว่าอีกายังมีอยู่ ที่อยู่ได้เพราะเกรงใจนกกาบบัว ถ้าไม่เกรงใจนกกาบบัว อีกาก็จะสูญพันธุ์ เพราะว่านกกาบบัวเป็นนกที่ใหญ่ จึงอยู่ร่วมกันโดยสันติ ไม่ทะเลาะกันอีกต่อไป..."
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถึงการนำเรื่องของอีกามาทรงเล่าพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลา ดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2535 เป็นการแสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการทะเลาะกันก่อน แต่เมื่อเข็ดหลาบหรือมีความคิดที่ถูกต้อง ที่จะช่วยกันดำเนินชีวิตร่วมกันก็อยู่ได้โดยสันติ
***
เพลง Lullaby (ค่ำแล้ว) เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 24 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ นิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา โดยท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย เพลงพระราชนิพนธ์ Lullaby จัดอยู่ในหมู่เพลงกล่อมนอน
กล่อมนอน ในความหมาย หมายถึง กล่อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องด้วยเพราะเมื่อแรกประสูติ ณ วันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2498 ทรงเป็นทารกน้อยที่ไม่โปรดบรรทม บรรทมยากอย่างยิ่ง เนื่องเพราะการพระราชทานพระเกษียรธาราของสมเด็จแม่เป็นสิ่งจำเป็น ด้วยไม่ทรงสามารถเสวยนมผงที่ใช้เลี้ยงทารกเป็นการเสริมได้เลย กระนั้นพระราชกุมารีน้อยจึงทรงเจริญด้วยพระปัญญา ทรงรู้ความเกินพระชันษาแม้ไม่กี่เดือนก็ตามที เป็นต้นว่า เมื่อมีพระพี่เลี้ยงท่านหนึ่งกล่อมพระบรรทมด้วยเพลง "ลมพัดชายเขา" เป็นประจำ หากพี่เลี้ยงอีกท่านหนึ่งเข้าเวร เปลี่ยนเพลงกล่อมบรรทมเป็นเพลงอื่น พระราชกุมารีน้อยทรงจำได้ว่า ผิดตัว ผิดเพลง มักจะทรงกันแสง ทว่าหากกลับมาขับร้องเพลง "ลมพัดชายเขา" ก็จะทรงหยุดกันแสงอย่างฉับพลันทันที
มีเรื่องเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไว้ในอ้อมพระกรข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งทรงอิเล็กโทนเพลงพระราชนิพนธ์ Lullaby กล่อมพระบรรทม แล้วทูลกระหม่อมพระองค์น้อยก็ทรงหลับไป
***
ทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะทรงโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยไม่รับสั่งอะไรเลย วันหนึ่งมีผู้กล้าหาญกราบบังคมทูลฯถามเพื่อให้หายสงสัย
มีรับสั่งว่า "ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร"
 |
มูลเหตุของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่น ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร ทรงส่งปลาจำนวน 50 ตัว มาทูลเกล้าฯถวาย ปลาชนิดนั้นเป็นพันธุ์เดียวกับปลาหมอเทศแต่เจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง ขยายพันธุ์ได้ง่าย เนื้อมีรสอร่อยคล้ายปลากะพง ต่อมาได้พระราชทานชื่อว่า "ปลานิล" และได้ทรงให้มีการขยายพันธุ์ในสวนจิตรลดา โดยทรงทดลองเลี้ยงด้วยพระองค์เอง เมื่อขยายพันธุ์ได้จำนวนมากแล้ว ได้พระราชทานแก่กรมประมงเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่สถานีประมงของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แล้วแจกจ่ายต่อไปยังเกษตรกร
***
พ.อ.(พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน ถ่ายทอดความประทับใจที่มีต่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นยอดกตัญญูไว้ในหนังสือ "หยุดความเลวที่ไล่ล่าคุณ" ความบางตอนว่า
"วันนั้นในหลวงเฝ้าสมเด็จย่าอยู่จนถึงตีสี่ตีห้า เฝ้าแม่อยู่ทั้งคืน จับมือแม่ กอดแม่ ปรนนิบัติแม่ จนกระทั่ง "แม่หลับ" จึงเสด็จฯกลับ พอไปถึงวังเขาโทรศัพท์มาแจ้งว่า สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์ ในหลวงรีบเสด็จฯกลับไปศิริราช เห็นสมเด็จย่านอนหลับตาอยู่บนเตียง
"ในหลวงตรงเข้าไปคุกเข่า กราบลงที่หน้าอกแม่ พระพักตร์ในหลวงตรงกับหัวใจแม่..."ขอหอมหัวใจแม่...เป็นครั้งสุดท้าย" ...ซบหน้านิ่งอยู่นานแล้วค่อยๆ เงยพระพักตร์ขึ้น...น้ำพระเนตรไหลนอง
"ต่อไปนี้จะไม่มีแม่ให้หอมอีกแล้ว เอามือกุมมือแม่ไว้ มือนิ่มๆ ที่ไกวเปลนี้แหละ ที่ปั้นลูกจนได้เป็นกษัตริย์ เป็นที่รักของคนทั้งบ้านทั้งเมือง...
"มองเห็นหวีปักอยู่ที่ผมแม่ ในหลวงจับหวี ค่อยๆ หวีผมให้แม่...หวี...หวี...หวี...หวี...ให้แม่สวยที่สุด...แต่งตัวให้แม่...ให้แม่สวยที่สุด...ในวันสุดท้ายของแม่..."
***
มีเรื่องเล่าจากผู้บริหาร TA (บริษัท True ในปัจจุบัน) ว่าครั้งหนึ่งเคยนำ PCT ยี่ห้อ SANYO ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ที่เป็นรุ่นหาคลื่นได้มาถวายแด่ในหลวง เพราะเห็นว่าในหลวงทรงใช้เครื่องเก่าซึ่งเป็น PCT ยี่ห้อ Sharp ที่บริษัท TA นำมาแจกฟรีรุ่นแรกๆ ซึ่งเป็นแบบพับได้
ทว่าในหลวงรับสั่งว่า
"เอามาให้ฉันทำไม ในเมื่อเครื่องเก่าฉันก็ใช้ได้อยู่"
นั่นแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงโดยแท้จริง
***
ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดการถ่ายภาพ และทรงถ่ายภาพต่างๆ อยู่เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เคยไปปรากฏตามหน้านิตยสาร เมื่อราวปีพุทธศักราช 2483 ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ได้ปรากฏอยู่ในนิตยสารสแตนดาร์ด ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร มีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่ผู้ใกล้ชิดผู้หนึ่งถึงการเป็นช่างภาพอาชีพของพระองค์ว่า
"ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ด ได้เงินเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้วจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายเดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา"
***
หลายคนคงนึกสงสัยว่า ในหลวงทรงไปเลือกตั้งหรือไม่ คำตอบคือ ไม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2515 ถึงเหตุผลที่ไม่ไปเลือกตั้งว่า
"แล้วก็ทราบดีว่า ถ้าไปเลือกตั้งก็มีชื่ออยู่ เพราะเขาบอกว่ามีชื่อ ไม่เหมือนบางคนไปหาชื่อไม่เจอ บางคนไปแล้วก็ไปเจอชื่อคนที่ตายไปแล้ว ทำอย่างนี้ฟื้นความรู้สึกถึงเพื่อนที่ตายไปแล้วเลยร้องไห้ (เสียงหัวเราะ) ไม่ได้ร้องไห้เพราะว่าตัวไม่มีชื่อ บางคนก็ไปหาชื่อ หาอย่างขะมักเขม้น ปรากฏว่าตัวมีสองคนได้กำไร ก็มีแปลกๆ อย่างนี้จริงๆ คือที่จะบอกก็ว่ามีชื่อในที่จะเลือกตั้ง แล้วที่มิได้มาเลือกก็มิใช่ว่าจะนอนหลับทับสิทธิ"
***
ในหลวงทรงเล่นกีฬาได้หลายชนิด แต่กีฬาที่ทรงโปรดเป็นพิเศษได้แก่ แบดมินตัน สกี และเรือใบ ทรงเคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "กีฬาซีเกมส์") ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2510 ครั้งหนึ่ง ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าว่า เสด็จฯกลับเข้าฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น แสดงให้เห็นว่าทรงยึดกติกามากแค่ไหน
***
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระเมตตาต่อสัตว์ เห็นได้จากทรงมีสุนัขที่ทรงเลี้ยงมากมาย หนึ่งในนั้นที่รู้จักกันดีคือ คุณทองแดง
คุณทองแดงเป็นสุนัขตัวที่ 17 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นลูกของ "แดง" สุนัขจรจัดบริเวณศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 คุณทองแดง เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 มีพี่น้องรวม 7 ตัว โดยคุณทองแดงได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2541 ขณะมีอายุได้ 5 สัปดาห์ และเนื่องจากคุณทองแดงเกิดหลังลูกๆ ของคุณมะลิไม่กี่วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงยกให้คุณมะลิ แม่สุนัขที่ทรงเลี้ยงไว้เลี้ยงดู
***
โครงการแก้มลิงมาจากลิงกินกล้วย
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว พระราชทานแก่ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระ บาทเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2538 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวน จิตรลดา กล่าวถึงที่มาของโครงการแก้มลิง
"...จำได้เมื่ออายุ 5 ขวบ มีลิงเอากล้วยไปให้มันก็เคี้ยว เคี้ยว เคี้ยว แล้วใส่ในแก้มลิง ตกลง "โครงการแก้มลิง" นี้มีที่เกิดเมื่อเราอายุ 5 ขวบ เมื่ออายุ 5 ขวบ ก็นี่เป็นเวลา 63 ปีแล้ว..."
ในหลวงกับนาข้าว
"ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่า การทำนานั้นมีความยากลำบาก และเป็นอุปสรรคอยู่ไม่น้อย..."
พระราชปณิธานหนึ่งขององค์พระมหากษัตริย์มีอยู่ว่า จะทำอย่างไรให้ชาวนาอยู่ได้ตามอัตภาพ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่เราจะเห็นพระองค์ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจอันเกี่ยว ข้องกับการเกษตรอย่างมากมาย และยิ่งได้ทราบว่าในสวนจิตรลดาซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน มีทุ่งนาอันเป็นโครงการส่วนพระองค์แล้ว ยิ่งย้ำชัดว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญเพียงไรกับการ เกษตรกรรม
ย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ.2479-2502 พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ว่างเว้นไป เพียงจัดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ.2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นอีก และปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัย และปฏิบัติสืบมามิได้ขาด ด้วยทรงเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชพิธีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร
***
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวในหนังสือ "100 เรื่อง ในหลวงของฉัน"
แม้เป็นเพียงเรื่องเล่าสั้นๆ ที่รวบรวมมาจากหลายแหล่งข้อมูล แต่สิ่งหนึ่งที่เมื่ออ่านจบและรู้สึกได้ตรงกันทันทีคือ ความรัก ความเทิดทูน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีอยู่ไม่เสื่อมคลาย
เป็นในหลวงของฉัน เป็นในหลวงของปวงไทยทุกคน

หนังสือ "100 เรื่อง ในหลวงของฉัน" รวบเรื่องราวโดย "วิทย์ บัณฑิตกุล"
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์
"หนังสือ 100 เรื่อง ในหลวงของฉัน เป็นความพยายามหนึ่งที่จะรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับ "ในหลวงของฉัน" ให้ครบทุกแง่มุม...อย่างสังเขป ทั้งพระราชประวัติ พระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนของพระองค์ เนื้อหาในหนังสือตัดทอนมาจากหนังสือและเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งที่อ้างอิงแหล่งที่มาได้ และที่ไม่อาจค้นหาต้นตอเดิมพบ ด้วยเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดกันมาปากต่อปาก บางเรื่องก็ส่งต่อกันมาทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
"ทั้งนี้ ล้วนเป็นเรื่องดีๆ ที่แสดงถึงการเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้เหนือเกล้า คณะผู้จัดทำรวบรวมมาจัดพิมพ์ไว้เพื่อให้ผู้สนใจได้ค้นคว้าและขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น"
หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 4-12-2009 หน้า 20 http://www.matichon.co.th
ที่มา http://mblog.manager.co.th/phakri/th-84061
เรื่องของในหลวงที่เรา(อาจ)ไม่เคยรู้
|