Home » เรารักในหลวง ทรงพระเจริญ » ชั่งหัวมัน บ้านไร่ของในหลวง โครงการตามพระราชดำริ

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ชั่งหัวมัน บ้านไร่ของในหลวง โครงการตามพระราชดำริ

 

  

โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ

            เมื่อทราบชื่อโครงการตามพระราชดำริว่า  "โครงการชั่งหัวมัน"   หลายท่านก็คงจะสงสัยโครงการตาม พระราชดำรินี้  เป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร  ต่างตีความกันไปต่าง ๆ นานา

             จึงน่าจะมาทำความเข้าใจโครงการนี้  ว่ามีที่มาอย่างไร ให้เข้าใจแจ่มชัดด้วย  ที่พระองค์ท่านได้ ทรงกระทำให้แก่ชาติบ้านเมืองของเราอีกโครงการหนึ่ง จากจำนวนทั้งหมด  ๔,๐๐๐ กว่า โครงการ  เป็น โครงการตามพระราชดำริล่าสุด

ประวัติความเป็นมา
 

             เมื่อ ปี  พ.ศ. ๒๕๕๑  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำ หนองเสือ ประมาณ  ๑๒๐ ไร่ และต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก ๑๓๐ ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๒๕๐ ไร่ โดยมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่า ยาง จ.เพชรบุรี  และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา  และพระราชทานพันธุ์มันเทศซึ่งออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้อง ทรงงานที่วังไกลกังวล
ให้นำมาปลูกไว้ที่นี่  พระราชทานชื่อโครงการว่า
“โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”

             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความคืบหน้าโครงการด้วย พระองค์เอง  เมื่อวันที่  ๑  สิงหาคม  ๒๕๕๒

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เมื่อวันที่  ๒๑  สิงหาคม  ๒๕๕๒


 

"ชั่งหัวมัน"  หมายถึง  การชั่งน้ำหนักมันเทศ

            พื้นที่ที่ตั้งของโครงการนี้อยู่ที่  บ้านหนองคอกไก่  ตำบลเขากระปุก  อำเภอท่ายาง  จังหวัดเพชรบุรี คุณดิสธร  วัชโรทัย  รองเลขาธิการพระราชวัง  ได้กรุณาให้ข้อมูลถึงที่มาของโครงการชั่งหัวมันว่า

           ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล  ทรงมีพระราชประสงค์ให้ นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวาย  วางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ  แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ

           พอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวล   จึงพบว่า  มันเทศที่วางบนตัวชั่ง มีใบงอกออกมา  จึงรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล   แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หา พื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ

เป้าหมายของโครงการชั่งหัวมัน  ตามพระราชดำริ

          โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ  เป้าหมายต้องการให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของ  อ. ท่ายาง เพชรบุรี   โดยเลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ดีที่สุดเข้ามาปลูก   แล้วให้ภาครัฐและชาวบ้านร่วมดูแลด้วยกัน  เพื่อ แลกเปลี่ยนแนวคิด    

          คุณดิสธร  บอกว่า  โครงการชั่วหัวมันเป็นการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการ  โดยใช้ทรัพยากร  ที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด  ขณะเดียวกันก็พยายามเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส  โดยคาดว่าอนาคตจะเป็นแหล่ง  เรียนรู้ให้กับประชาชนโดยทั่วไปได้เข้าชม

          ที่ตั้งของโครงการอยู่ที่  บ้านหนองคอกไก่  ตำบลเขากระปุก  อำเภอท่ายาง  จังหวัดเพชรบุรี

  • พืชสวนครัว   ได้แก่  มะเขือเทศ  มะเขือเปราะ  พริก  กะเพรา  โหระพา  มะนาวแป้น  ผักชี
  • ผลไม้  ได้แก่  สับปะรดปัตตาเวีย  แก้วมังกร  มะละกอแขกดำ  มะพร้าวน้ำหอม  มะพร้าวแกง ชมพู่เพชรสายรุ้ง  กล้วยน้ำว้า  กล้วยหักมุก
  • พืชเศรษฐกิจ  ได้แก่  อัอยโรงงาน  มันเทศญี่ปุ่น  มันเทศออสเตรเลีย  มันต่อเผือก  มันปีนัง หน่อไม้ฝรั่ง  ข้าวเหนียวพันธุ์ชิวแม่จัน  ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวหอม  ข้าวจ้างพันธุ์ลีซอ  ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวขาว ยางนา  ยางพารา  ชมพู่เพชร
      

บ้านไร่ ของในหลวง 

 

ทะเบียนบ้านเลขที่ 1  เป็น บ้านพักส่วนพระองค์ของในหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือโฉนดและมีชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรทำไร่

 

ภาพแปลงปลูกพืชเกษตรที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี

 

แปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่ง

 

 

    คุณนริศ  สมประสงค์  เจ้าหน้าที่งานในพระองค์  โครงการชั่งหัวมัน  เสริมว่า  แรก ๆ ชาวบ้านก็พากันสงสัยมาก  เริ่มตั้งแต่ชื่อโครงการชั่งหัวมันแล้ว

    ชาวบ้านตีความชื่อโครงการกันพอสมควร  แรก ๆ ก็ตีความออกไปทางการเมือง  ว่าพระองค์ท่าน เบื่อแล้ว  ก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า  ไม่ใช่อย่างนั้น

    เหตุผลจริง ๆ คือ  หัวมันบนตาชั่งยังขึ้นได้  แล้วที่แห้งแล้งขนาดไหน  มันก็ต้องขึ้นได้
    ข้อสงสัยต่อมารวมไปถึง  ทำไมพระองค์ท่านมาซื้อที่ดินที่นี่   ซึ่งแห้งแล้งมาก  จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ
    ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก  ผืนดินที่นี่มีแต่ยูคาลิปตัส  ชาวบ้านก็ยังไม่รู้ว่า  ในหลวงท่านมาซื้อที่ดินผืนนี้เอาไว้

    คุณนริศ  บอกว่า  เราทุกคนคงทราบ  อะไรที่ยากลำบากพระองค์ท่านทรงโปรด  พระองค์ท่านจะทำให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่า  ทำได้เพื่อจะได้เป็นแม่บทในการที่จะทำ  เหมือนเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านที่นี่

    ผืนดินโครงการชั่งหัวมัน  ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน  ๒ ตำบล  ตำบลกลัดหลวง  ตำบลเขากระปุก  มาช่วยกัน  เกษตรอำเภอก็เข้ามาช่วยจัดสรรพื้นที่  ท่านดิสธรก็เข้ามาร่วมวางแผน  จะให้ชาวบ้านปลูกอะไร

    อยากจะให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันระหว่างชาวบ้าน  ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่จะปลูกถวายให้พระองค์ท่าน

    โครงการชั่งหัวมัน  อยากให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันระหว่างชาวบ้าน  ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่จะปลูกถวายให้พระองค์ท่าน  เพราะอยากให้พระองค์ท่านมีความสุข

    หน่อไม้ฝรั่ง  ข้าวไร่  ข้าวโพด  มะพร้าว  แก้วมังกร   กะเพรา  พริก  มะนาว  ถูกจัดสรรลงแปลง ปลูกอย่างรวดเร็ว  เหมือนฝัน  ราวกับเนรมิต

    วันนี้  ผลผลิตที่สร้างรายได้ให้มากที่สุด  คือ  มะนาวพันธุ์พื้นเมือง

          ในหลวงท่านทรงมีพระราชดำริว่า  ไม่ต้องการให้ใส่สารเคมี  หรือถ้าจะใช้ก็ใช้น้อยที่สุด  มะนาว ของพระองค์ท่าน  ผิวจะไม่ค่อยสวย  เรียกว่าเป็น  มะนาวลาย  แต่ผิวบางน้ำเยอะ  เป็นที่ต้องการของตลาด สนนราคาก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามกลไกตลาด  แต่ละวันไม่เหมือนกัน

          พระองค์ท่านทรงให้ปรับปรุงระบบระบายน้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองเสือ  เพื่อใช้ในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริอีกด้วย

ทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้า

           นอกจากแม่แบบด้านการเกษตรแล้ว  ยังมี  กังหันลมผลิตไฟฟ้า  ตามนโยบายรัฐบาลที่ใช้พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้า  มีกำลังการผลิตขนาด  ๕๐ กิโลวัตต์  ปัจจุบันมีทั้งหมด  ๒๐  ต้น  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะดำเนินการเข้ามารับซื้อพลังงานสะอาดที่ได้นี้ต่อไป

           ไฟฟ้าพลังงานสะอาดไม่ได้ใช้หมุนเวียนในไร่  ผลิตได้เท่าไร  จะเอาไปหักลบกับพลังงานที่ใช้ ทุกเดือนจะมีเงินเหลือ  การไฟฟ้าฯ ตีเช็คกลับคืนมา  ๓-๔  ครั้งแล้ว

ภาพทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้า


    พื้นที่ทั้งหมดของโครงการชั่งหัวมัน  ๒๕๐ ไร่  วันนี้ถึงจะยังไม่ถูกพัฒนาเต็มทั้งหมดทุกจุด  แต่ในภาพรวมโครงการกำลังเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ  อย่างเป็นรูปธรรม

    แค่เพียงไม่กี่เดือน   โครงการชั่งหัวมันยังยังเขียวขจีได้ขนาดนี้

    หากผ่านไปเป็นปี   หลายปี  พื้นที่ที่เคยแห้งแล้งทุรกันดารผืนนี้  คงจะกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกชั้นยอด   ขึ้นชื่ออันดับหนึ่งเป็นแน่   

    นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้  ที่พสกนิกรชาวไทยที่ทำการเกษตรในผืนดินที่แห้งแล้ง จะได้มีศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรม  ทั้งชาวบ้านบริเวณนี้ และเกษตรกรชาวไทย  เพื่อศึกษาและ นำไปดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ในผืนดินของตนเองต่อไป


อ้างอิง  :   ๑.   บทความคณะนักศึกษาบัณฑิตศึกษา คณะสังคมศาสตร์  สาขารัฐศาสตร์การปกครอง รุ่นที่ ๔
                     (ปริญญาโท)  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย
                     ในพระราชูปถัมภ์   ตำบลอ้อมใหญ่  อำเภอสามพราน  จังหวัดนครปฐม   ศึกษาดูงาน
                     โครงการช่างหัวมัน  เมื่อวันที่  ๔  กันยายน  ๒๕๕๓  และภาพประกอบ
                      http://src.ac.th/web/index.php?option=content&task=view&id=896&Itemid=2
                      ขอขอบคุณ
               ๒.    หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ฉบับประจำวันที่  ๖  กุมภาพันธ์   ๒๕๕๓ - ขอขอบคุณ

ที่มา   http://www.oknation.net/blog/surasakc/2010/12/03/entry-1

 

ทำไร่..ถวายพ่อโครงการ "ชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ"

ไทยรัฐออนไลน์  5 ธันวาคม 2553

              ...คนที่ไปดูก็เห็นได้ว่า เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนที่อยู่ในท้องที่นั้นก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ ในระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะว่าถ้าไม่มีการร่วมมือกันก็ไม่ก้าวหน้า ไม่มีความก้าวหน้า

                ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้ เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าได้อย่างไร ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำ แล้วก็ทำให้ก้าวหน้า แต่อันนี้มันไม่ใช่กลุ่มหนึ่ง ทั้งหมดร่วมกันทำ และก็มีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ..." นัยความหมายของโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ข้างต้นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ลึกซึ้งเกินกว่าการพลิกฟื้นผืนแผ่นดินจากผืนป่ายูคาลิปตัสที่แห้งแล้งกันดาร ดั่งทะเลทรายให้กลายเป็นไร่สวน ที่อุดมด้วยหน่อไม้ฝรั่ง มะนาว กล้วย และอีกสารพัดพืชผักผลไม้

ในฐานะรองเลขาธิการพระราชวัง "คุณดิสธร วัชโรทัย" ถ่ายทอดความทรงจำว่า ภายในระยะเวลาปีเดียวเท่านั้น เราเริ่มกันเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ในหลวงได้พระราชทานพันธุ์มันเทศ ซึ่งงอกออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานที่วังไกลกังวล ให้นำมาปลูกไว้ที่นี่ พร้อมกับพระราชทานชื่อโครงการว่า "โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ"

นัยความหมายอื่น นอกเหนือจากนี้ "คุณดิสธร" บอกว่า คงไม่ทราบ แต่ชั่งหัวมันเป็นพระราชดำริของพระองค์ท่าน ที่พระราชทานชื่อ เป็นพระราชอารมณ์ขันของพระองค์ท่านหรือเปล่า อันนี้คงจะบอกรายละเอียดไม่ได้

วันนี้...ถามถึงชื่อชั่งหัวมัน แต่ก่อนคนส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเห็น...ไม่รู้ ก็ตีความไปต่างๆนานา บ้างก็ว่า "ช่างหัวมัน"..ไม่ใช่.."ชั่งหัวมัน" ที่เป็นตาชั่ง แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่รู้แล้วว่า "ชั่งหัวมัน" เป็นโครงการพระราชดำริ

วัน ที่ 1 สิงหาคม 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาที่ไร่ของพระองค์ ท่านเป็นครั้งแรก เสด็จฯพร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และคุณทองแดง ประทับที่ศาลาเก้าเหลี่ยมด้านบน เวลาประมาณ 17.00 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถพระที่นั่งแบลคโครเนียด้วยพระองค์เองลง มา ทรงนำหัวมันเทศญี่ปุ่นวางบนตาชั่ง แล้วก็เปิดป้าย "โครงการชั่งหัวมัน"

สำหรับสภาพพื้นที่โครงการชั่งหัวมันโดยทั่วไป แม้ว่าจะถางป่ายูคาลิปตัส เริ่มปรับสภาพพื้นที่บ้างแล้ว แต่โดยรวมก็ยังถือว่ากันดารอยู่มาก แรกเริ่มใช้ 14 ส่วนราชการ และคน 450 ชีวิต เข้ามาร่วมพัฒนา หลังจากนั้น 18 วัน ในหลวงท่านก็เสด็จฯมาครั้งแรก ราวกับมีปาฏิหาริย์ พื้นที่ 250 ไร่ จากสภาพแห้งแล้ง วันเวลาผ่านไปปีกว่าๆเท่านั้น วันนี้กลายเป็นพื้นที่เขียวขจี อบอุ่น ชุ่มชื้น เต็มไปด้วยร่มไม้ใบหญ้า

ถ้าถามถึงแนวทางทฤษฎีที่ใช้พัฒนา ผืนดิน หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจโครงการชั่งหัวมันดีเท่าใด "คุณดิสธร" ยืนยันว่า จริงๆแล้ว ที่นี่ไม่ใช่เรื่องทฤษฎี แต่เป็นการบูรณาการ โดยนำส่วนราชการที่มีความรู้ความชำนาญ เช่น กรมวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน กรมข้าว กรมชลประทาน เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ฯลฯ เข้ามาดูในส่วนที่เขาเกี่ยวข้อง

"ทำนองเดียวกัน ชั่งหัวมันยังใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ประจำท้องถิ่น ผ่านชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้ามาร่วมลงแขก ทำไร่ถวายพ่อ ทุกวันพฤหัสบดี"

  

 

ชาวบ้านเหล่านี้เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มาทำไร่ให้พ่อด้วยใจ ไม่ได้ค่าจ้าง...กลุ่มผู้ปลูกมะนาว ก็จะช่วยกันดูแลสวนมะนาว...ปลูกมะนาวถวายพ่อ กลุ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่งก็มาทำไร่หน่อไม้ฝรั่งถวายพ่อ มะนาวทำรายได้เป็นที่หนึ่งในบรรดาพืชผักผลไม้ทุกชนิด เริ่มเก็บมะนาวที่ปลูกได้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2552 มาถึงวันนี้ทำรายได้ให้ถึง 1 ล้าน 5 แสนบาทแล้ว ใครจะเชื่อว่าจะเก็บมะนาวได้วันละ 8 พัน ถึง 1 หมื่นลูก ขายได้ราคาต่ำสุด 1 บาท 80 สตางค์ และราคาสูงสุดพุ่งไปถึง 3 บาทกว่า

ครั้งล่าสุด ที่ในหลวงเสด็จฯไปที่โครงการชั่งหัวมัน บ้านหนองคอไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม ปีที่แล้ว เสด็จฯอย่างไม่เป็นทางการไปเสวยเครื่องว่าง พระองค์ท่านเสด็จฯไปทอดพระเนตรโครงการ แล้วก็เฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันนั้นได้ทรงรถพระที่นั่งเข้าไปในแปลงมะนาว แล้วก็ทรงเก็บมะนาวตอนตีสาม เพื่อให้สมเด็จพระราชินีได้ทอดพระเนตร หลังจากนั้น ได้เสด็จฯอีกครั้งในวันที่ 1 กันยายน ทรงเข้าไปในแปลงมะนาว ทรงจอดรถพระที่นั่ง แล้วเก็บมะนาว พร้อมทอดพระเนตรโครงการ แล้วจึงเสด็จฯกลับ ภายในเวลาเดือนเดียว พระองค์ท่านเสด็จฯเยือนที่ดินแปลงนี้ถึง 3 ครั้ง หลังจากนั้นก็ต้องเสด็จฯกลับไปทรงรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างที่ประทับอยู่ที่ศิริราช จะต้องทูลนำเสนอถึงความก้าวหน้าของโครงการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเกษตรกรตัวจริง ตั้งต้นด้วยการซื้อที่ดิน แล้วจึงเข้าไปสำรวจดินบริเวณนั้นว่าสามารถปลูกอะไรได้บ้าง เราเริ่มเข้าไป ไม่ได้ไปเปลี่ยนดิน ไม่ได้ไปพลิกฟื้น แต่ต้องไปดูก่อนว่าของเขาทำอะไรได้บ้าง แล้วเราสามารถปลูกอะไรได้บ้าง แล้วจึงพัฒนาให้ดินตรงนั้นดีขึ้นโดยวิธีธรรมชาติ พระองค์ท่านยังรับสั่งถึงเรื่องข้าวว่า เมืองไทยต้องกินข้าว ฉะนั้นในที่ส่วนพระองค์ต้องมีการทำนา และในความแห้งแล้งกันดาร ทรงมีโครงการสอนชาวบ้านเรื่องน้ำ 3 เดือนแรกไร่ชั่งหัวมันไม่มีน้ำใช้ ต้องเอารถบรรทุกน้ำ บางวันใช้น้ำ 13 เที่ยว วิ่งมาไกล ไปกลับ 20 กิโลเมตร เพื่อเติมเข้าระบบ ชาวบ้านเห็นในหลวงทรงปลูกพืชมากมายแต่น้ำน้อยก็ยังไม่ตาย ฝรั่งที่คิดว่าปลูกไม่ได้ แต่ไร่ชั่งหัวมันปลูกข้าวได้ ทำให้คิดไปหลายอย่าง

ไร่ชั่งหัวมันของพ่อผืนนี้ ในหลวงทรงมีรับสั่งถึงอย่างไรบ้าง "คุณดิสธร" ถ่ายทอดว่า เป็นเรื่องปกติที่พระองค์ท่านจะทรงถามถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ เพราะวันนี้ชั่งหัวมันเดินหน้าไปไกลมากทีเดียว พระองค์ท่านทรงมีพระราชประสงค์ให้ชั่งหัวมันเป็นโครงการต้นแบบ นอกจากปลูกพืช ผัก ผลไม้ ยังมีกังหันลมผลิตไฟฟ้า 20 ตัว ปั่นไฟได้ตัวละ 5 กิโลวัตต์ ปั่นไฟเข้าระบบแล้วไปเก็บไว้ในหม้อ แล้วขายให้การไฟฟ้า ปกติเราซื้อจากการไฟฟ้ามาใช้ยูนิตละ 5 บาท ขายให้เขาได้ 8 บาท แล้วพลังงานนี้ไม่ต้องทำอะไร มันก็หมุนอยู่เรื่อย นี่คือโอกาส ต้องสร้างไว้ในระยะยาว เราแก้วิกฤติเรื่องน้ำ และได้โอกาสเพิ่มในเรื่องลม ทำให้สามารถปลูกพืชได้เยอะแยะมากมาย ในส่วนของเรื่องดิน พระองค์ท่านทรงให้ทำแผนที่ที่ดิน ดูลักษณะที่ดินต่างๆ เพื่อมีพระราชวินิจฉัยว่าควรปลูกอะไร เนื่องจากโครงการนี้เป็นที่ดินส่วนพระองค์ จึงเลือกปลูกพืชผลตามที่พระเจ้าอยู่หัวต้องการให้ปลูก แต่จะไม่ปลูกตามที่เราคิด บางครั้งพระองค์ท่านเสวยมะขามหวาน ก็จะทรงเก็บเม็ดให้นำมาเพาะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงขับรถยนต์มาจากพระราชวังไกลกังวล ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ไม่เคยประทับเฮลิคอปเตอร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เคยรับสั่งว่า จะปลูกอะไรก็ได้ในที่ของพระองค์ท่าน สับปะรดก็ปลูกได้ เดิมเป็นสับปะรดทั้งหมด ที่ดินที่พระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อ 4 หมื่น 5 พันบาท ทุกวันนี้ ราคาขึ้นเป็น 7 แสนบาทแล้ว ที่แถวนี้ไม่ใช่ของคนแถวนี้ เป็นของคนกรุงเทพฯหมด เมื่อก่อนไม่มีไฟ เดี๋ยวนี้มีไฟ พระองค์ท่านทรงซื้อไว้นานแล้ว แต่ปิดเป็นความลับไว้ กระทั่งวันโอนที่ดิน กรมที่ดินทูลถามว่า จะทรงใช้ชื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่ พระองค์ท่านทรงให้ใช้ชื่อนี้เลย แล้วก็ทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรทำไร่ ถือโฉนดทะเบียนบ้านเลขที่ 1 ที่ดินแถวนี้ดินไม่ดี พระองค์ท่านทรงเลือกซื้อที่ดินที่ไม่ดี ที่ดินดีทรงไม่โปรด เพราะพระองค์ท่านทรงอยากแก้เรื่องที่ดิน จึงเจาะจงซื้อที่ดินที่มีต้นยูคาลิปตัส เพราะจะได้แก้ปัญหาเรื่องดิน

...ใน ไร่เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ จะไม่ให้ใครเข้าไปเลย จะกันไว้หมด ทหารหรือตำรวจก็ไม่ให้เข้า จะเป็นการเสด็จฯส่วนพระองค์จริงๆ ขณะที่ชาวบ้านก็ทำไร่ไปตามปกติ ไม่โปรดให้ข้าราชการมารับเสด็จ คนที่จะเข้าเฝ้าฯได้คือ คนที่ทำงานจริงๆเท่านั้น พระองค์ท่านจะรับสั่งกับคนที่ทำงานในไร่อย่างเดียว"

ในรอบปีที่ผ่าน มา มีแขกที่เข้ามาเยี่ยมชมโครงการหลายพันคณะ คนที่เข้ามาดูส่วนใหญ่อยากรู้ว่าเราบริหารโครงการแบบไหน ซึ่งเราบริหารงานแบบบูรณาการ โดยที่เราไม่ได้ให้ส่วนราชการทำ หรือเรามาทำเองคนเดียว แต่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่รอบๆนอกก็เข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยงานในไร่ของพ่อ ผลผลิตที่ได้ ทั้งพืชผักนานาชนิดจะส่งไปจำหน่ายที่ร้านโกลเด้นเพลสเพียงแห่งเดียว โดยผลิตภัณฑ์ระบุชัดเจนว่ามาจาก "โครงการชั่งหัวมัน" และส่วนที่เกินก็จะนำมาใช้ในพระราชวัง ถือเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

นี่คือความสำเร็จอัน ยั่งยืนของ "ไร่ชั่งหัวมัน" ไร่ของพ่อหลวงแห่งแผ่นดินไทย เป็นที่ดินที่พ่อหลวงทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ไม่มีใครมาถวาย...ที่ดินแปลงนี้คือตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อเกษตรกรชาวไทย และยังเป็นสัญลักษณ์ของความรัก เสียสละ และความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน.