Home » โปรแกรมเมอร์ สตอรี สาระพัน » นักพัฒนาซอฟท์แวร์ ผู้ผลิตเกมส์ไทย "คุณเพิ่มบุญ เอี่ยมสุภาษิต" เกมส์โปรดิวเซอร์ - รายการ ดิไอดอล คนบันดาลใจ The idol

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
นักพัฒนาซอฟท์แวร์ ผู้ผลิตเกมส์ไทย "คุณเพิ่มบุญ เอี่ยมสุภาษิต" เกมส์โปรดิวเซอร์ - รายการ ดิไอดอล คนบันดาลใจ The idol

 

รายการ The idol คนบันดาลใจ วันที่ 16 มกราคม 2554 เวลา 23.30 น.โมเดิร์นไนน์ ทีวี

คุณเพิ่มบุญ เอี่ยมสุภาษิต (นักพัฒนาเกม)  เกมส์โปรดิวเซอร์

http://www.daypoets.com/theidol/?m=201101

 

 

 

 

  ข่าว ฐานเศรษฐกิจ

''เพิ่มบุญ'' ทิ้งบอมบ์รัฐไม่จริงใจ แนะวิธีคิดหยุดปัญหาเกมมรณะ

โดย ฐานเศรษฐกิจ วัน จันทร์ ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551

            นายกอุตสาหกรรมเกมไทย สวดยับรัฐแก้ปัญหาแบบวัวหายแล้วล้อมคอก เชื่อปัญหาไม่มีวันหมด พร้อมระบุตลาดเกมไทยมูลค่า 5,000 ล้านบาท ขณะที่เกมรุนแรงส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ควบคุมยาก แนะรัฐจัดเรตติ้ง ส่งเสริมเกมคนไทยเนื้อหาเหมาะสม

            นายเพิ่มบุญ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมอุตสาหกรรมเกมไทย เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ที่ผ่านมาภาครัฐแก้ปัญหาเกมกับเยาวชนแบบปลายเหตุ ทั้งนี้มองว่าแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้นต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

  1. การยับยั้ง โดยยับยั้งเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ลามกอนาจาร และ
  2. สนับสนุน โดยการสนับสนุนเกมที่มีเนื้อหาเหมาะสม หรือเหมาะกับเด็กไทย

            แต่ที่ผ่านมาภาครัฐทำเพียงด้านเดียว คือการยับยั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ปัญหาความรุนแรง หรืออาชญากรรมเกิดขึ้น ก็สั่งห้ามหรือออกกฎมาห้าม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก เพราะสั่งเกมนำเข้าเกมที่มีปัญหาเด็กก็สามารถไปดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ตได้ โดยมีการสั่งห้ามเกมควรมีทางเลือกอื่น หรือข้อเสนอแนะอื่นให้กับเด็กด้วย

            ทั้งนี้มองว่าระยะยาวภาครัฐ ควรมีการจัดประเภท หรือ เรตติ้งเกม โดยมีกฎระเบียบที่เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ใช่เอาแนวทางการจัดเรตติ้งเกมของต่างประเทศมาใช้ทั้งหมด ซึ่งการจัดเรตติ้งนั้นที่ผ่านมาสมาคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมเสนอข้อคิดเห็นกับกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้มองว่ารัฐ ควรมีแนวทางให้การสนับสนุนเกมที่เหมาะสม ทั้งในแง่ของโควตาการผลิต และส่งเสริมการตลาด

            ที่ผ่านมารัฐไม่ได้แก้ปัญหาเกมอย่างจริงจัง ใช้มาตรการวัวหายล้อมคอก เวลามีปัญหาทีก็สั่งห้ามที อีกทั้งยังไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือส่งเสริมเกมดี ออกมาเป็นทางเลือกให้เด็ก ทำให้เด็กไม่มีทางเลือก ถามว่าเด็กอยากเล่นเกมรุนแรงหรือไม่ เชื่อมั่นว่าไม่ แต่ที่ผ่านมาไม่มีเกมดีๆ ให้เล่นจึงต้องไปหาเล่นเกมเนื้อหารุนแรง

            นายเพิ่มบุญ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมเกมของไทยเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ มีมูลค่าประมาณ 5,700 ล้านบาท มากกว่าอุตสาหกรรมแอนิเมชัน ที่มีมูลค่า 3,000 กว่าล้านบาท และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีมูลค่า 4,000 ล้านบาท โดยในมูลค่าของอุตสาหกรรมเกมทั้งหมดนั้นแบ่งเป็นสัดส่วนเกมนำเข้าต่างประเทศ 93% ส่วนเกมของคนไทยผลิตได้มีสัดส่วนเพียง 7% ทั้งนี้เกมที่มีเนื้อหารุนแรงส่วนใหญ่อยู่ในส่วนของเกมนำเข้าต่างประเทศ ซึ่งสามารถควบคุมได้ยาก ขณะที่เกมสัดส่วนประมาณ 7% หรือมูลค่าประมาณ 416 ล้านบาท เป็นเกมที่ผลิตโดยคนไทย ซึ่งสามารถควบคุมกันได้ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการในสมาคม ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ผลิตเกมที่มีเนื้อหารุนแรง หรือลามกอนาจาร ออกสู่สังคม

           เกมที่มีปัญหานั้นส่วนใหญ่จะเป็นเกมนำเข้าจากต่างประเทศ บางเกมผู้ให้บริการร้านเกม ก็นำเข้ามาให้บริการแบบไม่ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะเกมบนเครื่องเล่นเพลย์สเตชัน ที่ปัจจุบันไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศ ส่วนบนคอมพิวเตอร์ที่มีบริษัทนิวอีร่า ออนไลน์ จำกัด เป็นผู้จำหน่ายนั้นขณะนี้บริษัทดังกล่าวได้ประกาศหยุดนำเข้าเพื่อแสดงความรับผิดชอบแล้ว

            นายเพิ่มบุญ กล่าวอีกว่าส่วนการแก้ปัญหาในมุมผู้ปกครองนั้นทุกครั้งที่เกิดกระแสข่าวปัญหาเรื่องเกมผู้ปกครองจะเกิดความรู้สึกต่อต้านเกม และสั่งห้ามเด็กเล่นเกมทันที ซึ่งมองว่าการห้ามดังกล่าวอาจส่งผลรุนแรงมากกว่าเดิม เพราะจากเดิมเด็กเคยเล่นเกมที่บ้านอยู่ในสายตาผู้ปกครอง อาจแอบไปเล่นข้างนอกตามร้านเกม หรืออินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ที่ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลได้

            อนึ่งรายงานจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ว่า 10 เกมอันตราย ที่อัยการสหรัฐอเมริกาเปิดเผยเมื่อปลายปี 2550 ให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงการซื้อให้ลูกเล่น ประกอบด้วย แกรนด์ เธฟต์ ออโต้ (GTA-Grand Theft Auto) , แมนฮันต์ (Manhunt) , สการ์เฟซ (Scarface), ห้าสิบเซ็นต์ : บุลเลตพรูฟ (50 Cent : Bulletproof) , สามร้อย : เดอะวีดิโอ เกม (300 : The Video Game) , เดอะ ก็อดฟาเธอร์ (The Godfather) , คิลเลอร์ 7 (Killer 7) , เรสซิเดนต์ อีวิล 4 (Resident Evil 4) , ก็อด ออฟ วอร์ (God of War) และ ฮิตแมน : บลัด มันนี่ (Hitman : Blood Money)

ที่มา    http://news.sanook.com/technology/technology_296563.php