อสังหาฯค้าน กรมที่ดินแก้ไขกม.อาคารชุด
โดย : โต๊ะข่าวธุรกิจการตลาด bangkokbiznews.com 9 กุมภาพันธ์ 2554
นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกรมที่ดินมีแนวคิดที่จะยกร่างแก้ไขกฎหมายอาคารชุดอาคารชุด พ.ศ.2551 ทั้งเรื่องของคำ”นิยาม” รวมถึงประเด็นการกำหนดรูปแบบของอาคารชุด ที่กฎหมายฉบับเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ ส่งผลให้ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางรายอาศัยช่องว่างทางกฎหมายนำจัดสรรแนวราบประเภทบ้านแฝดแล้วจดทะเบียนขายเป็นอาคารชุดให้กับชาวต่างชาติ
ทั้งเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตอีก โดยคาดว่ารูปแบบที่จะมีการกำหนดไว้ในพ.ร.บ.นั้นคือจะต้องมีความสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 3 ชั้น ส่วนจำนวนห้องนั้นกำลังพิจารณาดูว่าขั้นต่ำควรมีตั้งแต่ 10 ห้องหรือ 20 ห้องขึ้นไป
นอกจากนี้จะต้องมีพื้นที่ใช้สอยอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 30 ตร.ม หรือน้อยกว่าเล็กน้อย เพราะอาจจะต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย เพราะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันก็จะต้องมีห้องน้ำในตัวด้วย โดยคาดว่าร่างดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะให้กฤษฏีกาพิจารณา เพื่อเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรต่อไป
พร้อมกันนี้ นายอนุวัฒน์ ยังกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องกำหนดรายละเอียด เพราะไม่ต้องการให้มีปัญหาตามมาอีกเหมือนที่ผ่านๆมา โดยในอนาคตคอนโดมิเนียมจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากไม่กำหนดอะไรไว้ในอนาคตก็จะเห็นขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ และสุดท้ายอาจจะมีห้องน้ำรวมเหมือนกับหอพักก็ได้
นอกจากนี้กรมกำลังแก้ไขกฎหมายนิติบุคคลอาคารชุด และนิติบุคคลบ้านจัดสรรด้วย โดยจะกำหนดให้ผู้ที่เป็นผู้จัดการและกรรมการจะต้องมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพในเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะจากการที่สังคมเมืองนิยมอาศัยในอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการดูแลอาคารชุดเพื่อไม่ให้มีปัญหาร้องเรียนกันอีกเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตได้ว่า ประชาชนมีแนวโน้มอยู่อาศัยในอาคารชุดและบ้านจัดสรรมากขึ้น
ด้านนายธำรงค์ ปัญญาสกุลวงค์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวว่า ในการออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายใดๆก็ตามควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ หรือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วย รวมถึงจะต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆด้วยเช่นกัน หากมีการกำหนดในรายละเอียดดังกล่าวจริง อสังหาฯทั้งประเทศคงกระทบหมด
“ผมว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกลของตลาด หากผู้ประกอบการทำมาแล้วขายได้ ตลาดผู้บริโภคยอมรับก็น่าจะปล่อย หากกรมที่ดินกำหนดขั้นต่ำของพื้นที่รวมต้องไม่น้อยกว่า 30 ตร.ม.ผู้ประกอบการทำมาแล้วประชาชนซื้อไม่ได้หรือไม่มีกำลังผ่อนมีใครไปออกเงินช่วยหรือไม่”นายธำรงค์ กล่าว
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากกรมที่ดินยกร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจริงตามที่ระบุนั้นกระทบต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดในคอนโดมิเนียมของ แอล.พี.เอ็น.เต็ม 100 % เพราะปัจจุบันห้องชุดพักอาศัยที่ก่อสร้างได้พัฒนาดีไซน์ให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 22 ตร.ม.แต่ยังคงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย และการพัฒนาห้องชุดดังกล่าวทำให้ประชาชนบางกลุ่มมีโอกาสมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ซื้อได้ไม่สูงจนเกินไป
“ผมไม่เข้าใจเจตนาของกรมที่ดินที่เป็นหน่วยงานภาครัฐว่าคิดอย่างไรต้องการที่จะแก้กฎหมายเพื่ออะไร ตลาดทุกวันนี้ก็เป็นตลาดเสรี น่าจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกลของตลาด ไม่ควรออกกฎอะไรมาสกัด” นายโอภาส กล่าว พร้อมระบุว่า การที่ภาครัฐจะออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายใดๆมาควรพิจารณาถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วยและกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่ออกมานั้น ขัดกับกฎหมายหรือกฎระเบียบเดิมหรือไม่ อย่างไร
Link http://bit.ly/e3LnXr
|