ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2614 วันที่ 3-5 มีนาคม พ.ศ. 2554 - อสังหาฯ Real Estate
ภาคเอกชนกระทุ้งกทม.อีกรอบ
เอกชนกระทุ้งกทม.อีกรอบ เลิกบังคับคอนโดฯ อาคารสำนักงาน ห้างในเขตกรุงเทพฯชั้นใน ต้องมีที่จอดรถยนต์ อาคารที่จอดรถเก่า ไฟเขียวให้ดัดแปลงพัฒนาเชิงพาณิชย์จูงใจ หวังแก้ปัญหาจราจรบีบให้ใช้รถสาธารณะ-รถไฟฟ้า ด้านกรมโยธาฯ-กทม.หวั่นกระทบผู้บริโภคที่ต้องจอดรถทิ้งบนถนนทำให้รถติด
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ได้มีภาคเอกชนเสนอให้กทม. ยกเลิกบังคับสร้างที่จอดรถยนต์ภายในโครงการอาคารชุด รวมถึงอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ในเขตกรุงเทพฯชั้นในที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่าน ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้ทุกคนที่พักอาศัย ทำงานและช็อปปิ้งย่านใจกลางเมือง หันมาใช้รถไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชนของรัฐ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าจากงบประมาณที่ลงทุนไป และแก้ปัญหาจราจรได้อย่างเป็นรูปธรรม
"เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา กทม.และภาคเอกชน ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเกี่ยวกับที่จอดรถขึ้นซึ่งหลายฝ่ายต้องการให้ยกเลิกบังคับจัดให้อาคารประเภทคอนโดมิเนียมต้องกันพื้นที่ 120 ตารางเมตรต่อที่จอดรถ 1 คัน ตามกฎหมายควบคุมอาคาร และให้ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2555 ให้ยกเลิกบังคับสร้างพื้นที่จอดรถ หากโครงการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯชั้นในที่มีรถไฟฟ้าผ่าน ทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้นโดยอ้างว่า หากมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้วก็ไม่จำเป็น ต้องบังคับให้สร้างที่จอดรถอีก โดยอ้างว่าที่ดินในเมืองราคาแพง การใช้ที่ดินตามผังเมืองค่อนข้างจำกัด"
แหล่งข่าว กล่าวต่อไปว่า กทม.เห็นด้วยกับเอกชนที่ให้ข้อเสนอแนะ แต่ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถทำได้ เพราะเชื่อว่า ผู้อยู่อาศัยตลอดจนผู้ที่ทำงานและกลุ่มที่เดินทางเข้ามาช็อปปิ้งต่างต้องการความสะดวก หากไม่จัดทำที่จอดรถ หรือทำเพียงเล็กน้อย รองรับไม่เพียงพอ เกรงว่าจะจอดรถกันระเกะระกะบนผิวจราจรสาธารณะไม่เป็นระเบียบ และเสี่ยงต่อทรัพย์สินเสียหาย ขณะเดียวกัน หากยกเลิกห้ามคนนำรถยนต์เข้ามาในย่านที่มีรถไฟฟ้า หรือ ที่อยู่อาศัยที่ทำงานที่มีรถไฟฟ้าผ่านถือว่าเป็นไปได้ยาก และอาจขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กรณีการละเมิดสิทธิ์ของผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว
" ที่สำคัญ กรณีการบังคับให้สร้างที่จอดรถในอาคาร โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม หน่วยงานกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ที่ออกกฎกระทรวง ให้หน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศบังคับใช้ รวมถึงกทม.ด้วย และจากการที่ได้สอบถามไปที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเบื้องต้นได้ยืนยันว่า ไม่ยกเลิกให้จัดให้มีที่จอดรถ 120 ตารางเมตรต่อรถ1คันอย่างแน่นอน"
ด้านนายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า กทม.ควรยกเลิกสร้างที่จอดรถ ในบริเวณที่รถไฟฟ้าผ่าน หรือโครงการคอนโดมิเนียมราคาถูกต่ำว่า 1,000,000 บาท หรือ 1,000,000 บาท ไม่เกิน 2,000,000 บาทต่อหน่วย เพราะผู้บริโภคไม่มีรถยนต์ส่วนตัวทุกราย และเชื่อว่า หลายรายไม่ต้องการที่จอดรถ
ทั้งนี้ การกำหนดให้มีที่จอดรถ ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยสูง เพราะที่จอดรถต้องใช้พื้นที่เท่ากับสร้างอาคาร 1-2 อาคารเท่ากับพื้นที่ขาย ขณะที่ที่ดินในเมืองราคาแพง ดังนั้นหากยกเลิกในส่วนนี้ และให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ จะส่งผลให้ราคาขายต่อหน่วยต่ำลง 20-30% เพราะทุกห้องผู้ประกอบการจะบวกที่จอดรถเข้าไปในราคาขายด้วย ไม่ว่าจะมีรถหรือไม่มี บางโครงการที่จอดรถสูงถึง หน่วยละ 200,000บาท แม้ไม่มีรถ ก็ต้องถูกบวกเพิ่มเข้าไปมองว่าไม่เป็นธรรม
ขณะที่ นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมบ้านจัดสรร กล่าวว่า ไม่ควรบังคับให้คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานในเมืองต้องมีที่จอดรถ เพราะเท่ากับผลักดันให้คนนำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาในเมืองสร้างปัญหารถติดมากขึ้น ขณะที่มีระบบขนส่งมวลชนของรัฐและรถไฟฟ้าแล้ว หากต้องการแก้ปัญหาจราจรในภาพรวมและ จูงใจให้คนใช้รถไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าควรยกเลิกดังกล่าวที่สำคัญจะช่วยให้ ค่าก่อสร้างคอนโดฯลดลงและราคาต่อหน่วยลดลงตามไปด้วย
"ไม่ควรบังคับสร้างที่จอดรถโดยเฉพาะคอนโดฯราคาถูก เพราะไม่จำเป็นเสมอไปที่ เขาจะมีรถยนต์ และหากเขาจะเดินเข้าออกซอยไปที่รถไฟฟ้า ระยะทาง 500 เมตร ถึง1 กิโลเมตร จากที่พักก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ เป็นความสมัครใจที่เขาต้องการใช้รถไฟฟ้า หรือ ระบบขนส่งมวลชนของรัฐโดยไม่ต้องมีรถยนต์ส่วนตัว แต่การบังคับให้มีที่จอดรถ เท่ากับบังคับเขาให้ซื้อรถและสร้างปัญหารถติดตามมา และกรณีหากใครต้องการเข้าเมืองเพื่อทำงานหรือช็อปในเมือง ก็จอดรถไว้บ้านแล้วเดินทางโดยรถไฟฟ้า"
นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเนื่องจากมีรถไฟฟ้าเชื่อมโครงข่ายมากขึ้นในเขตเมือง ขณะที่กฎหมายที่จอดรถในอาคารยังกำหนดให้กันพื้นที่ 120 ตารางเมตรต่อรถ 1 คัน ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยมีรถไฟฟ้าเชื่อมถึงคอนโดฯที่พักอาศัยจึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายบังคับเรื่องที่จอดรถต่อไป
ส่วนนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า กทม.และกรมโยธาธิการและผังเมือง ควรยกเลิกสร้างอาคารที่จอดรถ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เนื่องจาก มีรถไฟฟ้าเชื่อมถึงอยู่แล้ว ขณะเดียวกันจะช่วยให้ราคาขายต่อหน่วยของคอนโดมิเนียมลดลงมากถึง 30% รวมถึงพื้นที่เช่าต่อตารางเมตรทั้งอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้า ทำให้ ผู้บริโภคมีขีดความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
ขณะเดียวกัน รัฐควรออกมาตรการจูงใจสำหรับอาคารที่จอดรถในเมือง สามารถนำไปแก้ไขดัดแปลงเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ขายหรือ พื้นที่เชิงพาณิชย์สร้างรายได้ต่อไปเชื่อว่าผู้ประกอบการน่าจะให้ความสนใจ แต่ ในมุมกลับหากอาคารใดไม่มีที่จอดรถ จะส่งผลกระทบต่อการขายได้ โดยเฉพาะอาคารที่ไม่มีที่จอดรถหรือมีแต่น้อย อาจจะ เสียเปรียบเพราะอาคารที่มีที่จอดรถจะใช้กลยุทธ์ดึงลูกค้า โดยนำที่จอดรถเข้ามาจูงใจ
ที่มา http://www.thanonline.com
|