ประชาชาติธุรกิจ ฉบับที่ 4276 วันที่ 03 มกราคม พ.ศ. 2554 หน้า 6
บริหารอาคารยุคใหม่กับ "กรีนบิลดิ้ง" กระแสรักษ์โลกใต้เงื้อมมือ "กฎหมาย"
สัมภาษณ์พิเศษ
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา "อาคารเขียว" (อาคารประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าการออกแบบหรือปรับปรุงอาคารให้ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่อาคารส่วนใหญ่ต้องให้ความสำคัญ
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา "ชาญ ศิริรัตน์" กรรมการ บริษัท ทัช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในเครือ "พลัส พร็อพเพอร์ตี้" หนึ่งในบริษัทชั้นนำในวงการตรวจสอบอาคารและที่ปรึกษาด้านการใช้พลังงานในอาคารที่มีฐานลูกค้าสะสมคิดเป็นพื้นที่กว่า 2.5 ล้านตารางเมตร ให้สัมภาษณ์ถึงผลที่จะตามมาจากการมีกฎหมายฉบับใหม่ "พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552" (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) ที่ออกโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
ว่ากันว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประเด็น "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" เพราะจะมีผลให้อาคารและโรงงานที่เข้าข่ายตามกฎหมายทั่วประเทศประมาณ 5,600 แห่ง ต้องจัดทำ "รายงานการตรวจสอบพลังงานอาคาร" ให้กระทรวงพลังงานพิจารณา เป็นประจำทุกปี
รายละเอียด พ.ร.บ.ฉบับใหม่
เท่าที่ทราบ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 เป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งออกมาได้ไม่นาน ที่น่าเป็นห่วงคือ เจ้าของอาคารส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าอาคารของตัวเองเข้าข่ายต้องส่งรายงานการตรวจสอบพลังงานอาคารตามกฎหมายหรือไม่
ประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้กับ "อาคาร" และ "โรงงาน" ที่มีการติดตั้ง "หม้อแปลงไฟฟ้า" ตัวเดียวหรือหลายตัวรวมกันขนาดตั้งแต่ 1,175 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป จะต้องจัดทำ "รายงานการจัดการพลังงานในอาคาร" เน้นที่การใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงาน เชื้อเพลิง ส่งให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเป็นประจำทุกปี
โดยปีแรกกำหนดส่งรายงานฯภายในเดือนมีนาคม 2554 ไม่เช่นนั้นเจ้าของอาคาร-โรงงาน หรือผู้รับผิดชอบด้านพลังงานประจำอาคารนั้น ๆ จะต้องมีโทษตามมาตรา 55 คือปรับไม่เกิน 200,000 บาท
มีกี่อาคารที่เข้าข่าย
เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับอาคารและโรงงานที่ติดตั้งหม้อแปลง ไฟฟ้าตามขนาดที่ระบุ กรณี "อาคาร" จะหมายถึง 1) อาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารที่มีพื้นที่รวมเกินกว่า 2,000 ตารางเมตร หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป 2) อาคารสำนักงาน 3) โรงแรม 4) ธนาคาร 5) โรงพยาบาล 6) ศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า 7) มหาวิทยาลัย 8) โรงเรียน 9) อาคารที่พักอาศัย 10) อาคารสถานบริการ และ 11) อาคารราชการ
เท่าที่ทราบน่าจะมีอาคารและโรงงาน ทั่วประเทศที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานฯประมาณ 5,600 แห่ง ในจำนวนนี้ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 1,600 แห่ง นี่แค่นับเฉพาะอาคารที่ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า (ไม่ใช่มิเตอร์ไฟฟ้า) ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารที่มีพื้นที่เฉลี่ยตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปและมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก จึงจะมีการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นของตนเอง
วิธีจัดทำรายงาน
เจ้าของอาคารสามารถจัดตั้งทีมงานภายในจัดทำ "รายงานการจัดการพลังงานในอาคาร" ได้เอง หรือจะว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การจัดทำรายงานฯจะต้องระบุรายละเอียดการใช้พลังงานอาคารในรอบ 1 ปี คือนับตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม
ปัญหาเฉพาะหน้าคือ กรณีการจัดส่งรายงานฯฉบับแรกภายในเดือนมีนาคม 2554 ก็จะต้องระบุรายละเอียดการใช้พลังงานอาคารนับตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคมของปี 2553
รวมทั้งต้องดำเนินการให้ครบ 8 ขั้นตอน ได้แก่
-
จัดให้มีคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน
-
ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น
-
กำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงานและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
-
ประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน
-
กำหนดเป้าหมาย แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนฝึกอบรม
-
ดำเนินการตามแผนที่จัดทำ ตรวจสอบวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผน
-
ตรวจติดตามและประเมินระบบการจัดการพลังงาน และ
-
ทบทวน วิเคราะห์ และแก้ไขระบบ
โดยสรุปคือ จะต้องมีการจัดเก็บสถิติการใช้พลังงาน จัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน และทำแผนลดการใช้พลังงานในอาคาร โดยเมื่อจัดทำรายงานแล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปเจ้าของอาคารหรือโรงงานจะต้องให้ "ผู้ตรวจสอบการจัดการพลังงาน" ที่ขึ้นทะเบียนกับ พพ.เข้ามาตรวจสอบและรับรองรายงานฯ ก่อนจัดส่งให้ พพ.ภายในเดือนมีนาคม 2554
อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับการอะลุ้มอล่วยให้สามารถจัดส่งรายงานฯที่ยังไม่ได้ผ่านการรับรองได้ เนื่องจากปัจจุบัน พพ.อยู่ระหว่างให้กฤษฎีกาตีความคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบการจัดการพลังงาน คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จากนั้นจะให้เวลาเตรียมตัวอีก 1 ปี เท่ากับว่าเรื่องการให้ผู้ตรวจสอบการจัดการพลังงานจะมีผลบังคับใช้ประมาณช่วงต้น-กลางปี 2555
ค่าใช้จ่ายการทำรายงาน
ตอนนี้เริ่มมีเจ้าของอาคารทราบเรื่องและยินดีปฏิบัติตาม กรณี "ทัช พร็อพเพอร์ตี้" จะมีค่าใช้จ่ายการทำรายงานเริ่มต้นที่ 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับความ สลับซับซ้อนของอาคารและระบบพลังงาน โดยใช้เวลาทำรายงานเฉลี่ย 1-3 เดือน
กฎหมายนี้จะเป็นไฟไหม้ฟางหรือไม่
... คงต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก และถ้าเป็น ไปได้อยากเสนอให้ภาครัฐมี "อินเซนทีฟ"(สิ่งจูงใจ) เช่น ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี เงินได้นิติบุคคลประจำปี
ผมอยากจะชวนเปิดมุมมองอีกด้าน คือถ้ามองในเชิงความคุ้มค่า จากประสบการณ์ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการพลังงานมาก่อน อย่าง "ตึกทิสโก้" ย่านสาทร ภายในระยะเวลา 2 ปี ที่บริษัทรับเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการพลังงาน หลังจากเปลี่ยนระบบทำความเย็นเครื่องปรับอากาศและเปลี่ยนหลอดไฟใหม่สามารถลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 1 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของค่าไฟที่ต้องจ่ายในช่วง 2 ปี
ที่มา http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02rea01030154§ionid=0217&day=2011-01-03
|