หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2618 17-19 มีนาคม 2554
ชูตึกเก่าต้านแผ่นดินไหว
กรมโยธาธิการฯเตรียมเข็นกฎกระทรวงมหาดไทย ส่งเสริมอาคารเก่าทั่วประเทศ สามารถยื่นขออนุญาตแก้ไขดัดแปลงเสริมความมั่นคงแข็งแรงในอาคาร
เพื่อป้องกันแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ซึ่งเจ้าของอาคารต้องตระหนักแม้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ด้านกทม.เผยตัวเลขอาคารแนวราบเกือบ 2 ล้านหลังเสี่ยง
นายสุรชัย พรภัทรกุล วิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้กรมโยธาธิการฯอยู่ระหว่างยกร่างกฎกระทรวงมหาดไทยส่งเสริมให้อาคารเก่าทุกประเภท ที่ปลูกสร้างมานานทั่วประเทศ สามารถยื่นขออนุญาตแก้ไขดัดแปลงเสริมความมั่นคงแข็งแรงในอาคาร เพื่อป้องกันแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เจ้าของอาคารที่ต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถจ้างวิศวกรหรือเจ้าพนักงานออกแบบให้โดยเฉลี่ยจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่จะไม่บังคับเหมือนกฎหมายฉบับอื่นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวออกตามกฎกระทรวงออกแบบอาคารต้านแรงแผ่นดินไหว ที่บังคับใช้เมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา ที่บังคับเฉพาะอาคารใหม่ อาทิ
อาคารสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป อาคารสูงอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ สถานศึกษา สถานพยาบาล อาคารชุมนุมคน เป็นต้น อาคารเหล่านี้ จะต้องให้วิศวกรคำนวณเสริมโครงสร้างให้มั่นคงแข็งแรงรับแรงสั่นสะเทือนกรณีเกิดแผ่นดินไหว
ร่างกฎกระทรวงใหม่เสริมแรงแผ่นดินไหวสำหรับอาคารเก่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงมหาดไทยและเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมา ภัยพิบัติต่างๆมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และนับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในไทย และแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นหลายระลอกจากประเทศเพื่อนบ้านและสั่นสะเทือนมาถึงไทย ซึ่งไม่น่าไว้วางใจและล่าสุดที่ประะเทศญี่ปุ่นและอาจส่งผลกระทบถึงไทยในอนาคต ซึ่งมองว่า ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันโดยเฉพาะเจ้าของอาคารต้องตระหนักถึงความปลอดภัย
"ทุกอาคารไม่จำกัดว่าเป็นอะไรโดยเฉพาะอาคารเก่าๆกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังบางอาคารสร้างก่อนกฎหมายควบคุมอาคารปี 2522 บังคับใช้ก็มี อย่างแฟลตดินแดง ที่มีอายุกว่า 30-40 ปี ตึกที่มีรอยร้าว ตึกที่สร้างอยู่บริเวณดินอ่อน หรือถมไม่แน่น ตลอดจนอาคารบ้านเรือนทั่วไป โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร หรือบางพื้นที่ที่กฎกระทรวงต้านแผ่นดินไหวไม่บังคับ แต่เจ้าของต้องการเพิ่มแรงเพื่อความมั่นคงในโครงสร้าง เพื่อความปลอดภัยก็สามารถทำได้โดยไม่บังคับ เช่น เพิ่มความเหนียวของข้อต่อยึดเกาะเสา คาน หลังคา ฯลฯ"
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กรมโยธาธิการ เร่งผลักดันกฎกระทรวงใหม่ออกมา เพราะอาคารเก่าส่วนใหญ่อันตรายสูง และกฎกระทรวงออกแบบอาคารรับแรงแผ่นดินไหว ก็บังคับใช้เฉพาะอาคารที่ยื่นขออนุญาตใหม่ในช่วงที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่อาคารเก่าจำนวนมาก ที่ไม่อยู่ในข่ายควบคุม หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือสึนามิเกิดขึ้นจะเกิดความสูญเสียตามมามาก
"หากอาคารเก่าต้องการเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับตัวอาคาร ควรจะอนุโลมให้ยื่นแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคารและให้ดำเนินการได้เลย โดยมีวิศวกรหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้คำปรึกษา ไม่ควรต้องยื่นแบบและขออนุญาตก่อสร้างดัดแปลงอาคารไปด้วย เพราะต้องใช้เวลานาน และต้องรอใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารก่อนจึงจะลงมือปรับปรุงโครงสร้างเสริมแรงยึดเกาะได้ เหมือนการยื่นขออนุญาตปลูกบ้านใหม่ทั้งหมด และยังมีค่าใช้จ่ายให้กับผู้ออกแบบ คือ วิศวกรอีกด้วย "
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า การเสริมเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงในอาคาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากแรงลม แผ่นดินไหว แม้กระทั่งแรงไหลของน้ำหากเกิดอุทกภัยครั้งรุนแรง เช่น ให้วิศวกรคำนวณเพิ่มฐานรากอาคารด้วยการเพิ่มเสา เพิ่มฐานรากให้กว้างขึ้น ลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม หรือเพิ่มการยึดเกาะ การเพิ่มข้อต่อเพื่อยึดเกาะ ระหว่างโครงสร้างอาคาร เสา คาน ผนังเสริมตาข่าย หรือการ ไม่ใช้ข้อต่อเกี่ยวยึดเสาเพื่อป้องกันการดึงโครงการให้ถล่มทั้งหลังหากเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้มองว่า บ้านไม้จะปลอดภัยกว่าอิฐ อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เกิน 10,000 ตารางเมตร สูงกว่า 23 เมตรขึ้นไป จะปลอดภัยมากกว่าอาคารแนวราบ 2-5 ชั้น เนื่องจากวิศวกรออกแบบต้านทานแรงลมไว้แล้ว แม้จะไม่ออกแบบเพิ่มโครงสร้างต้านแผ่นดินไหวก็ตาม
จากการ ยื่นตรวจสอบความปลอดภัยอาคาร ทั้ง 9 ประเภท พบว่า ส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะโครงสร้างอาคาร ขณะเดียวกัน ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่บริเวณรอยเลื่อน หรือวงแหวนแห่งไฟเหมือนประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฯลฯ แต่เป็นเพียงการรู้สึกได้หากเกิดแผ่นดินไหวในระยะไกล ดังนั้นอาคารสูงใหญ่ในกรุงเทพฯ จึงสามารถรับไหวต่อการสั่นสะเทือน แต่ประเภทอาคารพาณิชย์ หอพัก บ้านพักอาศัยทั่วไปที่ก่อสร้างมานาน จนทรุดโทรม จะน่าเป็นห่วงมากกว่า
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าอาคารทั้งหมดทั่วกรุงเทพฯ มีจำนวนกว่า 2,000,000 อาคาร แยกเป็นอาคารสูง-ใหญ่ 4,000-5,000 อาคาร นอกนั้นเป็นอาคารเตี้ยทั้งหมด ซึ่งการก่อสร้างมักใช้วัสดุเรียบง่าย บางแห่งต้องการต้นทุนที่ถูกก็ลดสเปกวัสดุก่อสร้างลง บางรายก่อสร้างบนที่ดินที่ทรุดตัวง่ายและเสี่ยงต่อการทรุดตัว บ้านเอียง บ้านมีรอยร้าว ทั้งนี้ หากเกิดการถล่มหรือเกิดแผ่นดินไหว หรือ สึนามิ ที่คาดไม่ถึง ก็อาจพังทั้งหลังได้ง่าย แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้อาศัยว่าจะยอมลงทุนหรือไม่ที่จะเสริมแรงต้านทานดังกล่าว
ที่มา thanonline.com
|