การเลือกตั้งคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุด |
โฟสต์ ทูเดย์ 17 พฤษภาคม 2554
บ้าน-คอนโด » สารพันปัญหา
เลือกตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านคอนโดฯ
โดย...นคร มุธุศรี นายกจัดตั้งสมาคมบริหารทรัพย์สินไทย
ขอเกาะกระแสเลือกตั้งใหญ่ กับการบอกเล่าเก้าสิบเกี่ยวกับเรื่องกฎเหล็กในการเลือกตั้งคณะกรรมการทั้งหมู่บ้าน และอาคารชุดที่สำคัญไม่แพ้กัน และผู้อยู่อาศัยไม่ควรละเลย มิฉะนั้น ทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่ใจคิด
พลันที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาผ่านจอแก้วเมื่อหัวค่ำคืนวันอังคารที่ 10 พ.ค. บรรดานักเลือกตั้งอาชีพต่างวิ่งหาสีเสื้อสวมกันให้วุ่น โดยระหว่างวันที่ 19-28 พ.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเปิดรับสมัครปาร์ตี้ลิสต์ต่อด้วยแบบแบ่งเขต และวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. นัดหมายให้ประชาชนเดินเข้าคูหากาบัตรเลือกบุคคล เลือกพรรคในดวงใจ ก่อนหน้านั้นบรรดาเสือ สิงห์ กระทิง แรด ต้องเลือกคอกสังกัด
นั่นเป็นเรื่องของนักการเมือง ในซีกฝ่ายบริหารหมู่บ้านและอาคารชุดก็มีกฎกติกาคล้ายๆ กับการบริหารประเทศชาติเหมือนกัน เพราะต้องกาบัตรลงคะแนนเสียงเลือก “คณะกรรมการ” ทุกที่ทุกแห่งอย่างน้อยๆ สองหรือสามปีหน
ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะในการบริหารการจัดการหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติระเบียบข้อกฎหมาย 34 ฉบับด้วยกัน ประกอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 กฎกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารนิติบุคคลหมู่บ้านและอาคารชุด และระเบียบคณะกรรมการจัดสรรและกรมที่ดิน
บทบัญญัติระเบียบข้อกฎหมายข้างต้นมีการกำหนดกติกาที่เกี่ยวกับ “คณะกรรมการ” บริหารหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมเอาไว้หลายประการ
ข้อแรก คือ “จำนวนกรรมการ” ของหมู่บ้านจัดสรรค่อนข้างจะเปิดกว้าง แต่สำหรับตึกสูง พ.ร.บ.อาคารชุด ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 3 และไม่เกิน 9 ต่อหนึ่งนิติบุคคล
กฎกติกาข้อที่สอง “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามคณะกรรมการ” ของหมู่บ้านจัดสรรค่อนข้างเปิดกว้าง จะเป็นคนนอกคนในได้หมด
แต่คอนโดมิเนียมจำกัดสิทธิการเป็นกรรมการเอาไว้เฉพาะเจ้าของห้องชุดเท่านั้น เว้นแต่ซื้อในนามบริษัทห้างร้านก็ให้ตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งทำหน้าที่แทน
ส่วนลักษณะต้องห้ามมีหลายประเด็นคล้ายๆ นักการเมือง เช่น ห้ามผู้ที่ถูกไล่ออกจากราชการ หรือเคยได้รับโทษจำคุก และเคยถูกที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมลงมติไล่ออก เป็นต้น
กฎกติกาข้อสาม “วาระและการพ้นจากตำแหน่งก่อนกำหนด” สำหรับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นอยู่กับ “ข้อบังคับ” ที่ตราเอาไว้ ส่วนอาคารชุดนั้นกำหนดวาระกรรมการเอาไว้แค่ 2 ปี โดยนั่งในตำแหน่งได้ 2 สมัยติดต่อกัน
แต่หากมีการตาย ลาออก และขายโอนห้องชุดไปให้บุคคลอื่น หรือถูกที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติปลดไล่ ก็ต้องพ้นจากหน้าที่ไปโดยปริยาย
กฎกติกาข้อสุดท้าย “การเลือกตั้ง” ทั้งบ้านแนวราบและตึกสูงระฟ้า ระเบียบข้อกฎหมายกำหนดเอาไว้ละม้ายใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่เข้าเกณฑ์ลักษณะต้องห้าม ต้องเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมที่ครบองค์ ต้องคัดเลือกจากผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจำนวนมากเป็นคณะกรรมการเป็นลำดับต้น เป็นต้น
กฎระเบียบบัญญัติเอาไว้เป็นคุ้งเป็นแคว และผู้พักอาศัยในหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจำนวนมากมาย แต่ในภาคปฏิบัติจริงๆ แทบจะหาผู้เสนอตัวเป็นคณะกรรมการให้ที่ประชุมกาบัตรเลือกไม่ค่อยจะได้
“ไม่ว่าง ไม่มีเวลา เลือกคนอื่นๆ เถอะ ผมขอสนับสนุนอยู่ข้างหลัง” ประโยคเหล่านี้ คือ คำตอบปฏิเสธแบบนิ่มนวล เมื่อสมาชิกคนหนึ่งคนใดยกมือเสนอ และ/หรือเมื่อมีการติดต่อทาบทาม
แม้จะตอบแบบอ้อมๆ แต่ถ้าล้วงควักความคิดความอ่านเอามาว่ากันตรงๆ น่าจะเป็นประโยคต่อไปนี้
“ขี้เกียจเป็นเบ๊ให้ชาวบ้านเขาโขกสับ”
“ภาระหน้าที่ก็มากมาย อีกทั้งยังต้องไปทะเลาะเบาะแว้งกับใครต่อใครเขาไปทั่ว”
“เงินดงเงินเดือนก็ไม่จ่ายสักกะแดง แถมยังต้องควักกระเป๋าค่าโน่นนี่ให้ส่วนรวมอีกตั้งเยอะ”
ที่สำคัญเข้าตำรา “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง กระดูกยังต้องแขวนที่คอ” ไม่เอาดีกว่า...!!
ต่างกับความคิดความอ่านของนักการเมืองอย่างกับหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะขานั้นปากจะพร่ำบอก “โปรดเลือกผมเข้าไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง รับรองประชาชนอยู่ดีกินดี และมีฐานะร่ำรวยภายในปีสองปี” สังเกตดูให้ดีๆ เถอะครับ ปากพูด มือไหว้ มุมปากจะมีน้ำเหนียวๆ ไหลยืด...
ที่มา http://www.posttoday.com
|