Web Design by Softbiz+
|
เว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014 |
สรุปและวิเคราะห์สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ (อุทกภัย54) โดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (1 พ.ย. 54) |
สรุปและวิเคราะห์สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์
ประจำสัปดาห์ วันที่ 26 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2554 มหาอุทกภัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล ยังคงแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิมอีกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหลังจากมีชาวบ้านรื้อทำลายพนังกั้นน้ำหลายจุด ทำให้พื้นที่อีกหลายเขตและหลายอำเภอมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมเพิ่มขึ้น แผนที่เฝ้าระวังน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครแสดงให้เห็นว่า เขตที่ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ได้แก่ เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน และบางพลัด และเขตที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เขตบางเขน ลาดพร้าว จตุจักร บางซื่อ และล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน เขตบางเขนกลายเป็นเขตใหม่ที่กรุงเทพมหานครกำหนดให้เป็นเขตที่ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ พื้นที่หลายอำเภอในจังหวัดนครปฐม และอาจต่อเนื่องถึงสมุทรสาคร กำลังกลายเป็นพื้นที่รับน้ำที่ไหลบ่าต่อเนื่องจากพื้นที่ตอนบนทั้งกรุงเทพฯและนนทบุรี ภาวะน้ำท่วมที่ขยายวงครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ต้องติดตามปรับประมาณการความเสียหายให้สูงขึ้นตามไปด้วยอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน จากประมาณการเดิมเมื่อกลางเดือนตุลาคม ซึ่งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดประมาณว่ามีหน่วยที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรทั่วกรุงเทพฯ-ปริมณฑล บวกจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับความเสียหายในเบื้องต้นประมาณ 50,000-65,000 หน่วยนั้น แต่เมื่อมาถึงสัปดาห์นี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องปรับประมาณการจำนวนหน่วยบ้านจัดสรรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นมาก เป็นประมาณเกือบ 100,000 หน่วยแล้ว โดยเป็นการประมาณจากโครงการจัดสรรทั้งหมดที่มีมาตั้งแต่อดีต (ต่างจากตัวเลขประมาณการเดิม ซึ่งนับเฉพาะโครงการจัดสรรที่เปิดขายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533) จำนวนหน่วยที่ประมาณนี้ ยังไม่รวมหน่วยบ้านที่ประชาชนสร้างเองหรืออยู่นอกโครงการจัดสรร ซึ่งหากรวมบ้านที่ประชาชนสร้างเองหรือนอกโครงการจัดสรรที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ปรับประมาณการทั่วทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน เป็นประมาณ 650,000-700,000 หน่วย (แบ่งเป็นบ้านจัดสรรประมาณ 100,000 หน่วย และบ้านทุกประเภทที่ประชาชนสร้างเองหรืออยู่นอกโครงการจัดสรรอีกประมาณ 550,000-600,000 หน่วย) และหากภาวะน้ำท่วมยังดำเนินต่อเนื่องไปอีก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ก็อาจมีความจำเป็นต้องปรับประมาณการให้สูงขึ้นอีก อนึ่ง จากภาวะน้ำท่วมรุนแรง ทำให้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ต้องปรับประมาณการข้อมูลด้านอื่นๆ ซึ่งมีนัยสำคัญ ที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ดังนี้
ภาวะหยุดชะงักของตลาดที่อยู่อาศัยไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่น่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า โดยภายหลังน้ำลดจะเป็นช่วงเวลาของการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ความต้องการสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยน่าจะมีมาก แต่ความต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจะลดลงเพราะมีการชะลอการขอโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย สำหรับผู้บริโภคซึ่งมีที่อยู่อาศัยแนวราบและยังมีรายได้เพียงพอ อาจหันไปซื้อหน่วยห้องชุดคอนโดมิเนียมในบริเวณอื่นที่อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในระดับราคาที่ตนเองมีศักยภาพ อีกส่วนหนึ่งจะหันไปซื้อที่อยู่อาศัยในจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถเดินทางไปกลับ กรุงเทพฯ-ปริมณฑลได้สะดวก โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชลบุรี อาจได้รับอานิสงค์จากผู้ที่ต้องการที่พักพิงในอนาคตหากประสบปัญหาอุทกภัยใหญ่อีก เพราะมีเส้นทางคมนาคมสะดวกกว่าเส้นทางอื่น และเป็นตลาดที่อยู่อาศัยทุกประเภท ซึ่งมีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยมากรองจากกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี
ที่มา http://www.thaipr.net/estate/371204 |