ชี้น้ำท่วมทำคนอยากซื้อคอนโดฯมากกว่าบ้าน
ข่าวไทยรัฐออนไลน์ วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2554
ธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV สำหรับซื้อบ้านต่ำกว่า 10 ลบ. ออกไปอีก 1 ปี เริ่มใช้ 1 ม.ค. 56 พร้อมลดความเสี่ยงการคำนวณเงินกองทุนของธนาคารสำหรับสินเชื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ 35% จาก 75% เพื่อช่วยประชาชนที่ถูกน้ำท่วม คาดความต้องการซื้อคอนโดเพิ่มขึ้นกว่าบ้านแนวราบ...
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเหตุน้ำท่วมที่ได้สร้างผลกระทบภาคธุรกิจและบ้านเรือนของประชาชนให้ได้รับความเสียหาย ตลอดจนโครงการที่อยู่อาศัย และที่อยู่อาศัยระหว่างการก่อสร้างได้รับผลกระทบ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนง.) มีมติขยายเวลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่า 10 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมกำหนดบังคับใช้ 1 ม.ค. 55 เป็น 1 ม.ค. 56 นอกจากนั้น ยังผ่อนปรนด้วยการกำหนดความเสี่ยงในการคำนวณเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ (Risk Weight) สำหรับสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว และบ้านแฝด ให้มีน้ำหนักความเสี่ยง 35% จากเดิม 75% โดยมีระยะเวลาผ่อนปรนจนถึง 31 ธันวาคมนี้
“การผ่อนปรนดังกล่าว จะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของทั้งสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ เนื่องจากทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องการหาสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่อย่างไรก็ตาม การที่ยังคงเกณฑ์ให้ประชาชนยังต้องมีเงินดาวน์ 5-10% นั้น ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนมีวินัยการเงินที่ดี หรือมีการออมบ้างก่อนซื้อบ้าน” นายสมบูรณ์ กล่าว
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า อีกเหตุผลหนี่งที่ ธปท. และคณะกรรมการ กนง. ตัดสินใจผ่อนปรนเกณฑ์ LTV เพราะจากการติดตามภาวะการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยพบว่า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อสำหรับแนวราบ มีการขยายตัวในระดับไม่เร่งตัวมาก นัก กล่าวคือมีการขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของสินเชื่อรวม สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์นั้น ขณะนี้มองว่า ธนาคารพาณิชย์ได้ออกแพ็กเกตการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบหลายแห่งแล้ว ซึ่งเป็นอีกด้านที่จะช่วยบรรเทาภาระประชนได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งประชาชนสามารถไปศึกษาแพ็กเกตได้จากธนาคารต่างๆ
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า จะมีประชาชนมาขอสินเชื่อเพื่อการซ่อมแซมในเขตพื้นที่ กทม. ประมาณ 2.4 แสนล้านหลังคาเรือน และประมาณ 40% ทีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปแล้ว หรือคิดเป็นประมาณกว่า 1 แสนล้านล้านบาท และเขตปริมณฑลประมาณ 4 ล้านครัวเรือน และ 40% ที่ได้รับความเสียหายไปแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามหลังจากการได้พูดคุยกับ 3 สมาคมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้ทราบว่าสมาคมต้องการให้ ธปท.พิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าวให้กับที่อยู่อาศัยแนวสูง หรือคอนโดมิเนียมต่อไปด้วย เนื่องจากคาดการณ์ว่า หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ประชาชนจะมีความต้องการเช่าซื้อคอนโดมิเนียมมากขึ้นกว่าบ้านแนวราบ.