แนะ 1,000 ตึกเก่าติดสปริงเกอร์ หนุน กทม.บังคับใช้ทุกตึก
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 7 มีนาคม 2555
วิศวกรเผย "ฟิโก้" และตึกทั่วกรุงกว่าพัน ไม่ถูกบังคับติดสปริงเกอร์ ชี้ผู้ประกอบการละเลยการตรวจสอบ หวั่นเกิดไหม้ซ้ำรอย ดันกทม.บังคับติดทุกตึก
จากเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารสำนักงาน "ฟิโก้ เพลส" ย่านอโศก เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายตื่นตัวเรื่องการตรวจสอบ ความปลอดภัยอาคารโดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ ในกรุงเทพฯ ซึ่งพบว่ากว่าครึ่งของอาคารเป็นอาคารเก่า ที่ก่อสร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2535
นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคารและวิศวกรรม บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการรับตรวจสอบอาคาร เปิดเผยว่า อาคารสำนักงานให้เช่า “ฟิโก้ เพลส” ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นอาคารที่สร้างก่อนการออก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 ทำให้ไม่มีการติดตั้งสปริงเกอร์ หรือหัวฉีดน้ำดับเพลิงกรณีเกิดไฟไหม้ และไม่มีการติดตั้งสัญญาณเตือนภัย โดยมีเพียงบันไดหนีไฟเท่านั้น
จากจำนวนอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (สูง 23 เมตร และมีพื้นที่มากกว่า 10,000 ตร.ม.) ซึ่งเป็นสำนักงานให้เช่าและคอนโดมิเนียมทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีกว่า 2,000 อาคาร พบว่า มีอาคารที่สร้างก่อนออก พ.ร.บ.ดังกล่าวเช่นเดียวกับฟิโก้เพลสถึง 50% หรือกว่า 1,000 อาคาร
ล่าสุด แม้จะมีกฎกระทรวงกำหนดอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 ออกมา จนถึงปัจจุบัน รวมเวลากว่า 5 ปีแล้ว ได้กำหนดให้อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตร.ม. ต้องได้รับการตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัย แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ยังคงละเลยการตรวจสอบอาคารอย่างเข้มข้น หลายรายเพียงแค่ตรวจสอบเพื่อให้ผ่านกฎหมาย ไม่ได้ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและจริงจังเพื่อความปลอดภัย
ดังนั้น บริษัทจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ต้องการให้ทุกอาคารติดตั้งสปริงเกอร์ โดยจะบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2535 กับทุกอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 ด้วย เพื่อให้ทุกอาคารมีมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น
การติดตั้งสปริงเกอร์สำหรับอาคารขนาดพื้นที่ 10,000 ตร.ม.จะต้องใช้งบติดตั้งไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท เพราะเพียงแค่ปั๊มน้ำสำหรับดับไฟ (Firepump) ที่ใช้สูบน้ำกระจายไปยังชั้นต่างๆ เพียงตัวเดียว ก็มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 เดือนในการติดตั้ง แต่ก็ถือเป็นความจำเป็นที่ทุกอาคารใหญ่ควรมี
นายชาญ เสริมว่า หากท้ายที่สุด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2535 ไม่ได้บังคับใช้กับอาคารที่สร้างก่อนออก พ.ร.บ. ผู้ประกอบการที่ขาดแคลนเงินทุนในการติดตั้งสปริงเกอร์ ก็ควรติดตั้งสัญญาณเตือนภัยเพื่อความปลอดภัย หากเกิดอัคคีภัยก็สามารถหนีได้ทัน ทั้งนี้ การติดตั้งสัญญาณเตือนภัยนั้นใช้งบประมาณไม่ถึง 1 ล้านบาท และใช้เวลาติดตั้งน้อยกว่าสปริงเกอร์
“หากผู้ประกอบการไม่ยอมติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ เลย จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างแน่นอน เพราะกรณีฟิโก้ เพลส อาจทำให้ผู้บริโภคจำนวนมาก ถามผู้ประกอบการออฟฟิศเช่าและคอนโดมิเนียม ว่า อาคารดังกล่าวติดตั้งสปริงเกอร์หรือไม่” นายชาญกล่าว
แนะ 4 ฝ่ายเกี่ยวข้องตรวจเข้มอาคาร
อย่างไรก็ดี เพียงแค่ติดตั้งอุปกรณ์และมีการตรวจสอบอาคาร คงไม่เพียงพอต่อความปลอดภัยของอาคาร อาคารจะปลอดภัยได้ ต้องเกิดจากความใส่ใจของบุคคล 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผู้ประกอบการ ต้องตระหนักถึงความสำคัญและความปลอดภัยของอาคาร กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มผู้ดูแลบริหารอาคาร ต้องหมั่นดูแลบำรุงรักษาอาคารให้ปลอดภัยอยู่เสมอ โดยความใส่ใจของ 2 กลุ่มแรกนั้น สำคัญกว่าอายุที่ใช้งานอาคารมาแล้ว
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มผู้ตรวจสอบอาคาร ต้องเป็นผู้ตรวจสอบอาคารที่มีทักษะ ความชำนาญ เตรียมการตรวจสอบอาคารอย่างดีและจริงจัง กลุ่มสุดท้าย คือ ผู้กำกับตรวจสอบ หรือภาครัฐ ที่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
กฎกระทรวงกำหนดอาคาร ที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 กำหนดประเภทอาคารที่ต้องรับการตรวจสอบไว้ 9 ประเภท ได้แก่
1. อาคารสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป
2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม. ขึ้นไป
3. อาคารชุมนุมคน หรืออาคารที่มีบุคคลมาชุมนุมพบปะ ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป และมีพื้นที่อาคารตั้งแต่ 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป
4.อาคารโรงมหรสพหรือโรงภาพยนตร์ทั่วไป
5.โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
6.โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่มากกว่า 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป
7.สถานบริการพื้นที่มากกว่า 200 ตร.ม.
8.อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมหรือคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป และ
9.ป้ายที่มีความสูงตั้งแต่ 15 ม.ขึ้นไป หรือพื้นที่ป้ายมากกว่า 50 ตร.ม. หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตร.ม.ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกฎหมายยังอยู่ในช่วงผ่อนผันอาคารในข้อ 8. ให้ตรวจสอบเฉพาะที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตร.ม.ขึ้นไปเท่านั้น จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตรวจสอบอาคารพื้นที่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยการตรวจสอบอาคาร เป็นการตรวจสอบสี่ส่วน ส่วนแรก คือ ความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคาร ส่วนที่สอง คือ ระบบประกอบอาคาร อาทิเช่น สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบไฟฟ้า ประปา เครื่องปรับอากาศ บันไดเลื่อน ลิฟต์ ส่วนที่สาม คือ สมรรถนะ อาทิเช่น บันไดหนีไฟ ระบบดับเพลิง ส่วนสุดท้าย คือ แผน อาทิเช่น แผนอพยพ แผนหนีไฟ และแผนฉุกเฉินอื่นๆ ใช้เวลาตรวจสอบทั้งหมดอย่างน้อย 4 วัน ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการรับตรวจสอบอาคารทั้งที่จดทะเบียนในรูปแบบบริษัทและบุคคลธรรมดารวมกันราว 1,000 ราย
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/property/property/20120307/440354/แนะ-1,000-ตึกเก่าติดสปริงเกอร์-หนุน-กทม.บังคับใช้ทุกตึก.html
|