Home » แฟ้มข่าว อสังหาริมทรัพย์ » ทิศทางแนวโน้มของการตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2556 - วิกฤติแรงงานทุบอสังหาฯ ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ทิศทางแนวโน้มของการตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2556 - วิกฤติแรงงานทุบอสังหาฯ ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง

วิกฤติแรงงานทุบอสังหาฯ ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง

bangkokbiznews.com กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555

นักธุรกิจเผยวิกฤติแรงงานทั้งปัญหาขาดแคลน-ขึ้นค่าแรงกระทบหนักอสังหาฯ ปีหน้า ต้นทุนก่อสร้างพุ่ง

         สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ จัดสัมมนาเรื่อง "ถอดรหัสอสังหาฯ ปี ’56 ทิศทางแนวโน้มของการตลาดอสังหาฯ” วานนี้ (22 พ.ย.) โดยมีผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักการตลาด นักวิชาการ ร่วมสะท้อนสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2556 มีแนวโน้มเติบโต แต่ต้องเผชิญวิกฤติด้านแรงงานขาดแคลน อาจส่งผลให้ธุรกิจ "สะดุด" ได้เช่นกัน

           นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ ในปีหน้า จะต้องเผชิญปัญหาใหญ่ คือ การขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้าง สะท้อนจากภาวการณ์ในปัจจุบันจะเห็นภาพรถปูนซีเมนต์ที่มีอยู่กว่า 2,000 คัน พบว่าจอดทิ้งไว้ที่แพลนท์ปูนกว่า 50% หรือ ประมาณ 1,000 คัน เนื่องจากไม่มีคนขับนำปูนซีเมนต์ไปยังไซต์งานต่างๆ โดยไม่สามารถใช้แรงงานต่างด้าวได้ เนื่องจากไม่มีใบขับขี่ ซึ่งปัญหานี้เป็น "ตัวแปร" สำคัญของธุรกิจ

           นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ แม้ว่าจะเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ส่งผลกระทบในด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ ขณะที่ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่อนข้างทรงตัว และขยับขึ้นไม่มากนักในปีหน้า

          "อสังหาฯ ปีหน้ายังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีปัจจัยบวกในเรื่องของดอกเบี้ย ลดลง 1% ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในระดับ 7-8% ถือว่าต่ำพอควรเมื่อเทียบกับอดีตที่สูงถึง 16% ทำให้อัตราการผ่อนลดน้อยลงมาก การซื้อที่อยู่อาศัยจึงขยายตัวมากขึ้น" นายอิสระ กล่าว

           สำหรับที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง ยังคงเติบโตเป็นผู้นำตลาดเช่นเดิม เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ยอมรับการอยู่อาศัยในอาคารสูงมากขึ้น ส่วนสินค้าดาวรุ่งมาแรง ได้แก่ "ทาวน์โฮม" เนื่องจากระดับราคาเทียบเคียงอาคารชุดแล้ว คุ้มค่ากว่า ยกตัวอย่าง ทาวน์โฮมในระดับราคา 4-5 ล้านบาท ได้พื้นที่ 100-200 ตารางเมตร ขณะที่อาคารชุดในเมืองมีพื้นที่ 50 ตารางเมตร

           ทั้งนี้ ราคาที่อยู่อาศัยขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามราคาที่ดินปรับขึ้นมาก เช่น โซนแบริ่ง ราคาขายคอนโด เฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อตร.ม. ใน 2-3 ปีก่อน ปัจจุบันปรับขึ้นเท่าตัว เป็น 7 หมื่นบาทต่อตร.ม.


ต้นทุนก่อสร้างขยับไม่ต่ำกว่า 5%

           นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ ในปีหน้าคาดการณ์เติบโตตามตัวเลขจีดีพี ในอัตรา 4.5-5.5% แต่มีปัจจัยลบจำนวนมากทั้งในเรื่องของภาวะส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของไทยอยู่ในสภาพ "ชะลอตัว" รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป พบว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยปัญหาใหญ่ คือ การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 5%

           อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะทำให้การซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อ ในปี 2556 คาดว่าจะไม่สูงมาก ส่วนอัตราการปล่อยสินเชื่อต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือแอลทีวี 95% นั้นผู้ประกอบการปรับตัว มาค่อนข้างมากแล้ว คาดว่าจะไม่กระทบต่อการเติบโตของตลาดเช่นกัน

ที่มา bangkokbiznews.com