Home » แฟ้มข่าว อสังหาริมทรัพย์ » รัฐ จะทำให้ "หมู่บ้านจัดสรร" เป็นชุมชนน่าอยู่ได้อย่างไร

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
รัฐ จะทำให้ "หมู่บ้านจัดสรร" เป็นชุมชนน่าอยู่ได้อย่างไร

bangkokbiznews.com     วันที่ 23 กรกฎาคม 2553    การเมือง : ทัศนะวิจารณ์

โดย : ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูล

เคยได้ยินที่หลายคนพูดว่า “ไม่ได้เจอด้วยตัวเอง...ไม่รู้สึก” ก็เพิ่งเห็นจริงคราวนี้

ลางหมู่บ้าน ประเภทที่เรียกว่าชุมชนซ้อนชุมชน โครงการก่อสร้างอาคารชุดนี้เมื่อสำเร็จจะประกอบด้วยที่พักกว่าห้าร้อยห้อง ซึ่งหมายความว่า ภายในเวลาไม่นานหลังปิดการขาย พวกเราก็จะมีเพื่อนใหม่ทันทีนับพันคน ชาวชุมชนคนที่อยู่อาคารชุดก็จะมาร่วมใช้ถนนหนทาง และสาธารณูปโภคร่วมกันกับเราโดยมิต้องขออนุญาต และที่สำคัญก็คือสาธารณูปโภคที่มีนั้นรองรับเฉพาะเท่าที่ชาวชุมชนหมู่บ้านใช้เท่านั้น คงจะเกิดโกลาหล จราจรติดขัด จราจรกลายเป็นจลาจล เพราะชาวชุมชนอาคารชุดก็คงจะมีรถยนต์ส่วนตัวอีกจำนวนไม่น้อย แม้ปัญหานี้ยังไม่เกิด แต่แน่นอนว่าจะต้องเกิด เมื่อมีปรากฏการณ์ชุมชนซ้อนชุมชนเกิดขึ้นในหมู่บ้านเรา
 

หมู่บ้านที่อาศัยอยู่กว่ายี่สิบปีนี้อยู่กันแบบกันเอง ไม่ได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้าน ทั้งๆ ที่มีความพยายามอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ปัญหาใหญ่อยู่ที่เรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ไม่สามารถเก็บได้ทั้งๆ ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านและจัดให้มีการประชุมหมู่บ้านหลายครั้ง จนในที่สุดก็ต้องเลิกราจำนนต่อการไม่มีความสามารถเพียงพอ และการไม่เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันแบบมีค่าใช้จ่ายของหลายๆ บ้าน
 

แต่เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดกับหมู่บ้านของเราคือชุมชนใหม่ซึ่งเป็นชาวอาคารชุดจะมีการบริหารจัดการในรูปแบบนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าชาวอาคารชุดจะสามารถดำเนินกิจกรรมได้ภายใต้ข้อบังคับเดียวกันและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขณะที่หมู่บ้านจัดสรรของเราไม่มีแม้แต่คณะกรรมการหมู่บ้านหรือผู้แทนหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ อาศัยการประชุมแต่งตั้งคณะทำงานหรือผู้แทนผู้รับมอบอำนาจไปเจรจาแทนหมู่บ้านเป็นคราวๆ ไป อำนาจการต่อรองกับคู่กรณีเกือบไม่มีเลยเพราะถ้าจะตัดสินใจอะไรก็ต้องกลับมาถามที่ประชุมหมู่บ้านทุกครั้งไป มิฉะนั้นผู้ได้รับมอบอำนาจก็อาจจะต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว ทั้งๆ ที่ทำงานให้ชุมชนหมู่บ้านก็ตาม
 

เป็นที่น่าสังเกตว่าพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ซึ่งขยายมาจาก ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ปี 2515 ได้เปิดทางให้หมู่บ้านจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ ตามที่กำหนดไว้มาตรา 43 ถึง 53 และทางกรมที่ดินก็ได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบและการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ.2545 ไว้อย่างชัดเจนแล้ว แต่เท่าที่ทราบตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันมีไม่ถึงร้อยละสิบของหมู่บ้านจัดสรรทั้งหมด ที่ดำเนินการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ นิติบุคคลอาคารชุดที่เพิ่งมี พ.ร.บ.อาคารชุดเมื่อปี 2522 หลังประกาศคณะปฏิวัติปี 2515 ถึง 7 ปี ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงจนถึงครั้งที่สี่ เมื่อปี 2551 จัดได้ว่ามีความก้าวหน้าไปมาก และที่สำคัญก็คือในการปรับปรุงครั้งสุดท้ายของ พ.ร.บ.อาคารชุดนี้ ได้กำหนดโทษของการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอันทำให้กฎหมายฉบับนี้มีสภาพบังคับอย่างเต็มที่ และมีผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการอาคารชุดเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน 2543 ที่แม้ถึงปัจจุบัน ก็ไม่มีสภาพบังคับที่จะทำให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษทางกฎหมายดังเช่นที่บัญญัติใน พ.ร.บ. อาคารชุดฉบับปัจจุบันแต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ถึงเวลาที่ควรจะมีการยกเครื่อง พ.ร.บ.จัดสรรที่ดินเสียใหม่ให้มีสภาพบังคับเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.อาคารชุดได้หรือยัง?
 

สังคมไทยเป็นสังคมอะลุ่มอล่วย แต่ในบางครั้งก็ทำให้เกิดทำอะไรตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวมอยู่บ่อยๆ รัฐเองก็ไม่สามารถเข้ามาก้าวล่วงได้มากนักเพราะเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชนด้วยกัน แต่แท้ที่จริงแล้ว ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่าการใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชนเป็นเรื่องของภาพรวมในฐานะที่เป็นสังคมย่อยของประเทศซึ่งเป็นสังคมใหญ่ และถ้าหากพิจารณาในภาพของสังคมโดยรวมแล้ว รัฐเองก็มีหน้าที่ที่จะให้บริการชุมชนในสังคมเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน
 

นโยบายของรัฐนับแต่รัฐบาลคุณทักษิณเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้ขยายขอบเขตของการให้ความช่วยเหลือและให้บริการสังคมโดยตรงเป็นจำนวนมาก เมื่อชาวบ้านไม่มีความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ ก็มีโครงการกองทุนหมู่บ้านทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เมื่อประชาชนไม่มีความสามารถในการแบกรับค่าใช้จ่าย รัฐก็มีการให้บริการสาธารณูปโภค น้ำ ไฟ รถเมล์ รถไฟ ฟรี เมื่อชาวบ้านไม่มีอาชีพเสริมหลังว่างจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวหรือว่างงาน รัฐก็หาโครงการสร้างอาชีพหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และอีกมากมายหลายโครงการที่รัฐเข้าไปเกื้อหนุนให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป้าหมายสุดท้ายก็คือทำให้ประชาชนมีความสุขตามสมควรและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง
 

เมื่อหันกลับมาที่ชาวชุมชนหมู่บ้านจัดสรร จากข้อมูลของกรมที่ดินพบว่ามีหมู่บ้านจัดสรรที่จัดตั้งขึ้นจนถึงปัจจุบันรวมประมาณกว่าเจ็ดพันหมู่บ้าน ถ้าเฉลี่ยหมู่บ้านละสองร้อยหลังคาเรือน ก็คงไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านสี่แสนครัวเรือน และถ้ามีคนอาศัยครัวเรือนละสี่หรือห้าคน ก็เท่ากับว่ามีประชาชนคนไทยห้าถึงเจ็ดล้านคนที่อยู่อาศัยในชุมชนหมู่บ้านจัดสรร นับว่าไม่น้อยเลย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรหกสิบล้านคนของประเทศในปัจจุบัน
 

ชาวบ้านในต่างจังหวัดกว่าเจ็ดหมื่นหมู่บ้านกำลังได้รับการดูแลจากรัฐในหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ปัญหาทางสังคมก็น่าจะลดน้อยลง ในขณะเดียวกันถ้ารัฐหันมามองชาวชุมชนในเมือง นอกเหนือจากชาวชุมชนแออัดที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐเช่นเดียวกับชาวบ้านในชนบทแล้ว ชาวชุมชนหมู่บ้านจัดสรรก็มีความต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตเช่นกัน
 

ต้องไม่ลืมว่าชาวชุมชนหมู่บ้านจัดสรรก็มีหลายระดับ แน่นอนว่าหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่หรูหราโอ่อ่ารัฐก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วย แต่หมู่บ้านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรรุ่นเก่าๆ ก่อนมี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน 2543 ยังมีอีกจำนวนมาก ที่ประชาชนเป็นคนชั้นกลาง มีรายได้ไม่สูงมาก และต้องทำมาหากินอย่างยากลำบากเช่นกัน ถ้ารัฐสามารถช่วยเหลือจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านเงินกองทุนได้ ทำไมรัฐไม่พิจารณาชุมชนหมู่บ้านจัดสรรที่แบ่งเป็นรายได้น้อย ปานกลาง และสูง ให้ได้รับความช่วยเหลือเหมือนดังเช่นที่หมู่บ้านต่างจังหวัดได้รับการช่วยเหลือบ้าง
 

ปัญหาส่วนใหญ่ของชุมชนหมู่บ้านจัดสรรก็คือไม่มีเงินกองทุนที่ได้จากการระดมทุนของชาวชุมชนด้วยกันเพียงพอต่อการบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านจำนวนมากประสบปัญหาซ้ำซากเช่นน้ำท่วมขัง ขยะ ถนนหมดสภาพ ท่อระบายน้ำอุดตันต้องลอกท่อ นอกเหนือจากเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งหมู่บ้านระดับสูงมีเงินกองทุนที่จะจ้างฝ่ายรักษาความปลอดภัยมาดูแลได้ แต่ชาวบ้านหมู่บ้านในระดับล่างทำไม่ได้ เงินกองทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
 

ถ้ารัฐไม่ต้องการรับผิดชอบประชาชนกว่าห้าหกล้านคนเพียงเพราะเป็นเรื่องที่รัฐมีอย่างอื่นที่จะต้องทำ และให้คนเหล่านี้ดูแลกันเองเหมือนอย่างที่ผ่านมา รัฐก็จะได้ชื่อว่าเพิกเฉยต่อความเป็นอยู่ของประชาชนสิบเปอร์เซ็นต์นี้อย่างถาวร แต่ถ้ารัฐคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนสิบเปอร์เซ็นต์นี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รัฐก็ไม่ควรมองข้ามการให้ความช่วยเหลือในขั้นต้นหรือขั้นพื้นฐานด้วยการตั้งกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ประชาชนชาวชุมชนนับล้านได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และนั่นหมายถึงเป้าหมายของรัฐเช่นกันมิใช่หรือ?