การซื้อคอนโด กับ ภัยแผ่นดินไหว |
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 5 มิถุนายน 2550
ระวังภัยแผ่นดินไหวกับการซื้อคอนโด
เมื่อก่อนภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก หรือแผ่นดินไหว ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอยู่มากแตกต่างกับในปัจจุบันที่เรามีความรู้สึกว่าภัยจากแผ่นดินไหวเริ่มขยับเข้าใกล้ตัวทุกขณะ อาจเป็นเพราะการเกิดแผ่นดินไหวมีความถี่มากขึ้นทั้งในประเทศรอบๆ บ้านเรา หรือในประเทศที่เกิดเหตุเป็นประจำอยู่แล้ว หรือเป็นไปได้ที่การรับรู้ข่าวสารในปัจจุบันมันกว้างไกลและฉับไวขึ้นทำให้เราจึงรู้สึกเช่นนั้นได้ ประกอบกับผลพวงของแผ่นดินไหวในทะเลจนทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ที่คร่าชีวิตคนไทยและต่างประเทศนับพันๆ คนในไทย และนับแสนคนในประเทศเพื่อนบ้านในไม่กี่ปีมานี้ ทำให้คนไทยเราผวาพิษภัยจากแผ่นดินไหวมากขึ้น จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ล้วนทำให้คนไทยตื่นตัวภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหวกันมากกว่าก่อน แม้ว่าจะยังไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงเหมือนที่ประเทศอื่นๆ ก็ตาม แต่เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดบ่อยขึ้นมันก็เหมือนเป็นสัญญาณให้เราต้องระวังและเตรียมรับมือเอาไว้ให้ดีๆ
มีคุณผู้อ่านให้ข้อเสนอแนะมาว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ อยากจะให้ทางโพสต์ทูเดย์ ลองแนะนำการเลือกซื้อคอนโดมิเนียม โดยคำนึงถึงการรองรับภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหวบ้าง อาทิ จะรู้ได้อย่างไรว่าอาคารไหนมีความปลอดภัยแค่ไหนหากเกิดเหตุ มีหน่วยงานไหนหรือไม่ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบ และผู้ซื้อบ้านจะหาข้อมูลความปลอดภัยของโครงการนั้นๆ ได้จากไหน หรือควรพักอาศัยในระดับความสูงสักเท่าไร จึงจะปลอดภัยหากเกิดเหตุเป็นต้น
เมื่อประเทศเราไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวใหญ่ๆ การป้องกันตัวเลยมีน้อย ถ้าจะว่ากันตามตรงหากเกิดอะไรขึ้น อาคารสิ่งปลูกสร้างบ้านเรายังไม่ดีพอที่จะรองรับแรงสั่นสะเทือนในระดับที่สร้างความเสียหายได้ โดยเฉพาะในพื้นที่กทม.ซึ่งเป็นที่ลุ่มมีดินอ่อนจะเกิดแรงสั่นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียหายเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมของเรา เคยออกตัวเอาไว้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหว อาคารสูงจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าอาคารแนวราบหรืออาคารที่สร้าง 2-3 ชั้น โดยมีเหตุผลรองรับคือ อาคารสูงมีการตอกเสาเข็มที่ลึกกว่าอาคารแนวราบ ความมั่นคงแข็งแรงจึงมากกว่าประกอบกับการคำนวณแรงต้านลมที่ต้องเตรียมไว้สำหรับการก่อสร้างอาคารสูง ทำให้อาคารมีความยืดหยุ่นต่อแรงสั่นสะเทือนมากกว่า การอยู่ในอาคารสูงจึงปลอดภัยกว่าอาคารแนวราบ นั่นคือเหตุผลในมุมของผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม
คราวนี้มาถึงคำถามที่คุณผู้อ่านตั้งเอาไว้ “จะรู้ได้อย่างไรว่าอาคารไหนที่ปลอดภัยหากเกิดเหตุ” มีหน่วยงานไหนหรือไม่ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบ “ผู้ซื้อบ้านจะหาข้อมูลความปลอดภัยของโครงการนั้นได้จากไหน” จากคำถามข้างต้นเห็นว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่ 2 ฉบับ เป็นกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
กฎกระทรวงฉบับแรกคือ กฎกระทรวงฉบับที่ 49 (พ.ศ.2540) ว่าด้วยการกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร หรือพื้นดินที่รองรับอาคารสำหรับการก่อสร้างอาคารในเขตที่อาจได้รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวกฎกระทรวงฉบับนี้ กำหนดให้อาคารที่อยู่ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน
รายละเอียดของกฎกระทรวงฉบับนี้ส่วนใหญ่เป็นการกำหนดทางวิศวกรรมโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้อาคารที่ก่อสร้างสามารถต้านแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ และเมื่อเกิดภัยพิบัติสึนามิ ทางกรม โยธาธิการและผังเมือง ต้นเรื่องได้ขอแก้ไขกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวอีกครั้ง โดยเพิ่มจังหวัดที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเข้าไปอีก 12 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดในภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี และ 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ 15 เมตร ที่สร้างในพื้นดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในกฎกระทรวงคอนโดมิเนียมจึงเข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ด้วย แต่การแก้ไขกฎกระทรวงยังไม่บรรลุผลสำเร็จ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจทานร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จเมื่อไหร่ก็น่าจะประกาศใช้ได้ทันที คนซื้อคอนโดมิเนียมคงจะอุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง
แต่ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าอาคารนั้นๆ ปลอดภัย ก็ต้องเข้ามาดูในกฎหมายฉบับที่ 2 ที่กล่าวไว้ นั่นคือ กฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบเช่น โรงมหรสพ โรงแรม คอนโดมิเนียมและอาคารพักอาศัยรวม ที่มีเนื้อที่ 2 พันตารางเมตรขึ้นไป สถานบริการ เป็นต้น จะต้องมีการตรวจสอบอาคารทางด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ทุกๆ 1 ปีและ 5 ปี กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วโดยเจ้าของอาคารตามกำหนดจะต้องให้ผู้ตรวจสอบอาคารที่ผ่านการรับรองแล้วเข้าตรวจสอบในด้านต่างๆเช่น ความแข็งแรงด้านโครงการ ความปลอดภัยในการใช้อาคาร ภายในวันที่ 30 ธ.ค.2550 ทุกอาคารจะต้องมีใบรับรองการตรวจสอบอาคาร ยกเว้นคอนโดมิเนียมที่ยังให้เวลาอีก 5 ปี สำหรับอาคารที่มีเนื้อที่เกิน 5 พันตารางเมตร และ 7 ปี สำหรับอาคารที่ไม่เกิน 5 พันตารางเมตร ต่อไปคนซื้อคอนโดมิเนียมจะมั่นใจมากขึ้น เพราะทุกอาคารจะต้องผ่านการตรวจสอบตามกฎหมาย เมื่อนำกฎหมาย 2 ฉบับ มาใช้ร่วมกันต่อไป อาคารประเภทคอนโดมิเนียมจะต้องมีการออกแบบโครงสร้างรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว และจะต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง และปลอดภัยในการใช้ทุก 1 ปีและ 5 ปี ทำให้คนซื้อน่าจะมั่นใจได้มากขึ้น
|