Home » วิทยานิพนธ์ งานวิจัย กรณีศึกษา » งานวิจัย: การบริหารชุมชน(สังคม)เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมเมือง

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
งานวิจัย: การบริหารชุมชน(สังคม)เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมเมือง

รศ.ดร.ทัศนีย์  ลักขณาภิชนชัช
อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            การวิจัยเรื่อง “การบริหารสังคมกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง” ได้คัดเลือกชุมชนตัวอย่างที่ศึกษาโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกชุมชนที่มีผลงานจัดกิจกรรมหรือบริการสังคม ที่ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป และคัดเลือกจากประเภทชุมชนที่กรุงเทพมหานครแบ่งชุมชนเมืองออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ชุมชนแออัด ชุมชนชานเมือง ชุมชนเมือง เคหะชุมชน และชุมชนหมู่บ้านจัดสรร ประเภทละ 1 ชุมชน รวมทั้งสิ้น  5 ชุมชน ดังนี้ 

1.    ชุมชนซอยสวนเงิน                  เขตราชเทวี   (ชุมชนแออัด)  
2.    ประชาคมตลาดน้ำตลิ่งชัน        เขตตลิ่งชัน   (ชุมชนชานเมือง)
3.    ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่                เขตปทุมวัน   (โครงการบ้านมั่นคง)
4.    
ชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อพัฒนา     เขตทวีวัฒนา  (หมู่บ้านจัดสรรของเอกชน)
5.    
ชุมชนเมืองทองธานี                จ.นนทบุรี       (อาคารชุด / คอนโดมิเนียม)

 

           ผู้ศึกษา ใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการ และใช้เทคนิคการสังเกต การสัมภาษณ์พูดคุย และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของชุมชน การวิเคราะห์ สังเคราะห์สรุปบทเรียน กำหนดวัตถุประสงค์  3  ประการ คือ  เพื่อศึกษา 1) วิธีคิดของชาวชุมชนในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 2) วิธีปฏิบัติในการบริหารกิจกรรมหรือบริการสังคม และ 3) สังเคราะห์องค์ความรู้ด้านการบริหารสังคมที่ทำให้ชุมชนเมืองมีความเข้มแข็ง

           และ ตั้งประเด็นคำถามในวิจัย 7 ประเด็น คือ เหตุปัจจัยที่ทำให้ชุมชนมารวมตัวกันคืออะไร, ชุมชนมีวิธีคิดในการจัดการกับปัญหาการอยู่ร่วมกันให้เกิดความรู้รักสามัคคีกันได้อย่างไร, การเลือกจัดกิจกรรมหรือบริการสังคมเพื่อสร้างสวัสดิการชุมชนและพัฒนาชุมชนตั้งอยู่บนฐานคิดประการใดบ้าง, กิจกรรมหรือบริการสังคมที่ชุมชนจัดขึ้นเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนหรือมีความแปลกใหม่และถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมได้มากน้อยเพียงใด, อะไรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรมหรือบริการสังคมนั้นทั้งในแง่ผลผลิตและผลลัพธ์ และ ความเข้มแข็งของชุมชนจะมีความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด อะไรคือปัจจัยชี้ขาด   ใช้ระยะเวลาศึกษารวม 1 ปี 7 เดือน  ตั้งแต่วันที่  28 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2550  สรุปผลดังนี้

1. ชุมชนซอยสวนเงิน

            เป็นชุมชนแออัด ตั้งอยู่บนพื้นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในพื้นที่เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีพื้นที่ 15 ไร่มีประชากร 905 คน เป็นชุมชนเก่าแก่นับเป็นเวลาประมาณ 100 ปี   ผู้อยู่อาศัยหนีร้อนมาพึ่งเย็นเพราะบ้านถูกไฟไหม้ ถูกไล่ที่ หรืออพยพมาจากต่างจังหวัด มาอาศัยอยู่ที่นี่แบบบุกรุกเพราะความไม่รู้ เข้าใจว่าเป็นที่ดินว่างเปล่า ต่อมาจึงรับรู้ว่าเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งภายหลังได้เข้ามาจัดระเบียบที่อยู่อาศัยและเก็บค่าเช่าในราคาถูกโดยกำหนดเงื่อนไขให้พัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี ถูกสุขลักษณะ และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ            

            ชาวชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพร้อยพวงมาลัยขายบนท้องถนน ต่อมามีกฎหมายควบคุมห้ามขาย ผู้ฝ่าฝืนจะถูกจับปรับ เสียค่าปรับ 500 บาท ชาวชุมชนก็ยอมเสียค่าปรับแล้วย้อนกลับมาขายใหม่ โดยถือว่า “เป็นอาชีพสุจริตที่ผิดกฎหมาย” บ่งบอกถึง ความดื้อแพ่งในการทำมาหากิน ส่วนปัญหาที่อยู่อาศัย ชาวชุมชนคลี่คลายปัญหาด้วยตนเอง โดยทำความเข้าใจได้ด้วยเหตุผลและความถูกต้อง จากความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  เช่น สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานปปส. สสส. เป็นต้น มีการจัดตั้งกลุ่มประชาชนต่างๆ เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มอาสาสมัคร ปปส. สนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างหลากหลาย เช่น ห้องสมุดชุมชน สนามเด็กเล่นปลอดภัย การฝึกอาชีพใหม่ๆ เช่น ทำสมุนไพร นวดแผนโบราณ รับจ้างปักเลื่อมเสื้อยืด ฯลฯ โดยได้รับความร่วมมือชาวชุมชนและขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการชุมชนซอยสวนเงิน

2. ประชาคมตลาดน้ำตลิ่งชัน

               เป็นชุมชนชานเมือง ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรรวมของชุมชนต่างๆในเขตตลิ่งชัน 27 ชุมชน มีประชากร ประมาณ 104,000 คน ประชาคมเกิดขึ้นตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมัยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่ต้องการสร้างตลาดน้ำในกรุงเทพมหานคร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์/ อนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาสให้เกษตรที่ยังทำอาชีพปลูกพืช ผัก ผลไม้ ได้มีตลาดน้ำเป็นแหล่งค้าขายในวันหยุดราชการ และให้ชาวกรุงเทพมหานคร ได้ไปเที่ยวตลาดน้ำที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อลดรายจ่าย ได้มอบนโยบายให้สำนักงานเขตตลิ่งชันไปดำเนินการ จึงได้จัดให้มีการรวมตัวของคณะกรรมการชุมชนเป็นประชาคมตลาดน้ำตลิ่งชันและเลือกตั้งคณะกรรมการประชาคมตลาดน้ำตลิ่งชัน จากคณะกรรมการชุมชนทั้งหมด มีทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการตลาดน้ำตลิ่งชัน  สำนักงานเขตตลิ่งชัน เป็นผู้กำกับดูแลเชิงนโยบายอยู่ห่างๆ พร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องขอ  กิจกรรมและบริการที่ประชาคมตลาดน้ำตลิ่งชันจัดขึ้น คือ การค้าขายอาหารคาว หวาน ขนมไทยๆ พืช ผัก ผลไม้จากสวน  บนแพริมน้ำและให้ชาวบ้านพายเรือมาขายที่แพ มีการจัดเรือท่องเที่ยวตามสวนเกษตร และวัดต่างๆ มีการร้องเพลงและการเล่นของประชาชนบนเวทีประชาคมที่ตั้งอยู่ในบริเวณตลาดน้ำ  มีบริการนวดแผนโบราณที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในละแวกมาขายบริการนวด โดยคณะกรรมการประชาคมฯจัดอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทั้งหมดโดยจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม นำมาเข้า กองทุนตลาดน้ำตลิ่งชันไว้ใช้ในการบริหารงานและช่วยเหลือผู้ค้าที่เดือดร้อนโดยอนุมัติของคณะกรรมการประชาคมฯ  มีการจัดกิจกรรมตามวันสำคัญๆ เช่นวันปีใหม่ สงกรานต์ วันเด็ก วันวิสาขบูชา เป็นต้น ทำให้ชาวชุมชนตลิ่งชันมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงนิเวศน์พร้อมๆกัน ได้ซื้อหาสินค้าดีราคาถูกเพราะไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ผู้ค้าขายเพิ่มรายได้ และผู้ซื้อลดรายจ่าย ได้ระดับหนึ่ง
 

3. ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่     

         ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปทุมวัน ในโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของรัฐบาล(สมัย พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) โดยหลักการมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ร่วมคิดรูปแบบบ้าน ร่วมก่อสร้างบ้าน ร่วมคัดเลือกและกำหนดเกณฑ์ในการเลือกผู้มีสิทธิเข้าอยู่อาศัย  ร่วมติดตามการผ่อนชำระเงินค่าเช่าซื้อบ้านให้กับการเคหะแห่งชาติและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ที่ปล่อยกู้ผ่านมาทางสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นนิติบุคคลของชุมชนและสามารถเป็นตัวแทนลงนามทำสัญญากู้เงินแล้วนำมาปล่อยกู้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ ในการสร้างบ้านมั่นคง หน่วยละ 200,000 บาท  ผ่อนส่งเดือนละ 190 บาท กระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ประสบความสำเร็จในการทำให้ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเพราะเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีนโยบายขายแต่ให้เช่า และมีนโยบายด้านการดูแล รักษา และจัดประโยชน์

4. ชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อพัฒนา

          เป็นหมู่บ้านจัดสรรในโครงการของบริษัทเอกชน ตั้งอยู่ตรงข้ามพุทธมณฑล ถนนพุทธมณฑลสาย 4  ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ระยะแรกในการเข้าอยู่อาศัย เป็นชุมชนชานเมืองที่ค่อนข้างไกลและลำบากในการเดินทางเพราะรถประจำทางมีน้อยภายในหมู่บ้านประสบปัญหาเรื่องการวางท่อน้ำประปาไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง ไม่สามารถตอบสนองตามความต้องการที่จำเป็นของผู้อยู่อาศัย จนถึงขั้นเกิดการรวมตัวกันเรียกร้องให้เจ้าของโครงการกระทำการตามสัญญาซื้อขายเป็นผลสำเร็จด้วยดี ตลอดจนต่อสู้ทางกฎหมายให้เจ้าของโครงการจัดพื้นที่ส่วนกลางเป็นสโมสรและสนามเด็กเล่นตามสัญญาซื้อขาย 

           ผู้นำและแกนนำชุมชนตระหนักในการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านจึงเกิดความคิดจัดตั้งเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน ดำเนินกิจกรรมและบริการต่างๆเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีความรักชุมชนและช่วยกันพัฒนาชุมชน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข จนได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านพัฒนาดีเด่นมีการประกอบกิจกรรมมากมาย เช่น วงดนตรีไทยของเด็กและเยาวชน ลานกีฬา ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มอาชีพ OTOP การออกกำลังกาย แอโรบิค ไทเก็ก เป็นต้น จนถึงระดับของการสร้างนวัตกรรมทางสังคมให้กับหมู่บ้าน โดยจัดงานสังสรรค์ประจำปีและหาทุนเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาชิกในหมู่บ้านและจัดชุดการเล่นมาแสดงทุกกลุ่มวัยตั้งแต่กลุ่มเด็กจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ

5. ชุมชนอาคารชุด C1  คอนโดมิเนียมเมืองทองธานี 

           ตั้งอยู่ที่ปริมณฑล อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  เป็นอาคารชุดขนาดใหญ่มาก มีจำนวนห้องชุด 160  หน่วย แต่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ ร้อยละ 40 ทำให้บริษัท MSM ที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการบริหารจัดการอาคารชุด พยายามที่จะลดต้นทุนในการบริหารงาน เช่น ความล่าช้าในการปรับปรุงเรื่องการดูแลความสะอาดของพื้นที่ส่วนกลาง  ความมั่นคงปลอดภัยในการใช้ลิฟท์ภายในอาคารซึ่งมีความจำเป็นมาก ทำให้ผู้อยู่อาศัยเดือดร้อน และเรียกร้องให้ผู้จัดการประจำตึกเร่งรับผิดชอบ ซึ่งผู้จัดการประจำตึกก็ทำหน้าที่ติดตามผล แต่บังเอิญขัดกับนโยบายบริษัท MSM จนเกือบถูกเลิกจ้าง คณะกรรมการควบคุมอาคารที่แต่งตั้งจากผู้อยู่อาศัยในที่ประชุมใหญ่ จึงเข้าไกล่เกลี่ยและเจรจากับบริษัทMSMได้สำเร็จ โดยบริษัทฯแก้ไขข้อบกพร่องและจ้างผู้จัดการประจำตึกคนเดิมต่อไป


ปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง

           จากการจัดกิจกรรมหรือบริการในชุมชนที่ศึกษา 5 แห่ง  พบว่า มีเหตุปัจจัยร่วมในการกระบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง  พอสรุปได้ดังนี้

1. สภาพปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน เป็นเหตุที่ทำให้ชาวชุมชนมารวมตัวกัน เป็นพลังขับเคลื่อนในการจัดการกับปัญหาของชุมชน ในรูปแบบของ  “กลุ่มช่วยตัวเอง” (Self – Help Group)   

             เนื่องจากการใช้บริการจากหน่วยงานภาครัฐมีความล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นที่มีข้อบังคับให้ต้องติดต่อประสานงาน  ชาวชุมชนเหล่านั้นแม้ จะไม่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน แต่ก็มาพูดคุยกัน หารือหาทางออกของปัญหาร่วมกัน  ในการจัดการกับปัญหาชุมชนใช้หลักตรรกะ (Logic) หรือ ความเป็นเหตุเป็นผล (Causes & Effects)  เป็นพื้นฐานโดยตั้งอยู่บนฐานความคิดที่เป็นความจริง (Reality)  คำนึงถึงหลักศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (Human Dignity), หลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) หลักประชาธิปไตย  หลักความถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมืองและกติกาของสังคม (Legal Right & Social  Rights) ทั้งนี้เพราะปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในชุมชน หลายกรณีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลไม่ทั่วถึง  หรือล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ ชาวชุมชนจึงไม่อาจรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ต้องช่วยตนเองเป็นการเฉพาะหน้าก่อน  เพราะปัญหานั้นสร้างความเดือดร้อนและขัดขวางต่อการดำเนินชีวิตปกติสุข  จึงเป็นแรงผลัก (Drivem) ที่ทำให้ชาวชุมชนมารวมตัวกันในแบบจัดตั้ง “กลุ่มช่วยตัวเอง” (Self – Help Group)

           ปัญหาของชุมชนเมืองในการศึกษาครั้งนี้ พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นปัญหาเกี่ยวกับสภาพที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัญหาความจำเป็นขั้นพื้นฐาน(Basic Needs) ด้านความมั่นคงในชีวิตมนุษย์ที่ทุกคนต้องมีบ้านพักอาศัย   ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนเมือง แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
           1.1 ปัญหาที่อยู่อาศัยซึ่งชาวชุมชนประสบมาก่อนย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชน ได้แก่ชุมชนแออัดซอยสวนเงิน และชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ทั้งสองชุมชนมีลักษณะคล้ายกันในที่มาของการมีปัญหาที่อยู่อาศัย คือ บุกรุกที่ดิน, ถูกไล่ที่, อพยพมาจากที่อื่น / มาจากต่างจังหวัด,  เข้ามาหางานทำมาอยู่กับเพื่อนหรือญาติพี่น้อง, ไฟไหม้บ้านไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นต้น

           1.2  ปัญหาที่อยู่อาศัยซึ่งชาวชุมชนประสบภายหลังจากเข้ามาอยู่ในชุมชนแล้ว  ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร คือชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ และชุมชนอาคารชุดเมืองทองธานี C1 ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งในการที่เจ้าของโครงการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย ผู้อยู่อาศัยเป็นผู้มีการศึกษาสูง มีความรู้ทางกฎหมาย และ รวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรม เป็นผลสำเร็จ ต่อมากลุ่มผู้เรียกร้องจึงพัฒนาเป็นกลุ่มแกนนำ และได้รับการยอมรับเป็นคณะกรรมการชุมชน มีการจัดกิจกรรมหรือบริการตามความต้องการของชาวชุมชน เป็นครั้งเป็นคราวในโอกาสสำคัญ หรือ จัดทำเป็นธรรมเนียมประเพณี ประจำปีของชุมชน ทำให้เกิดความ รู้ รัก สามัคคี ซึ่งเป็นแกนหลักของชุมชนเข้มแข็ง

2. ภาวะผู้นำ

            สภาพปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน  เป็น “ตัวเร่ง/ตัวกระตุ้น” (Catalyst) ให้ชาวชุมชนค้นหา “ผู้นำตามธรรมชาติ” (Natural Leader) หมายถึง บุคคลที่มีบุคลิกภาพโดดเด่น (Charisma) เป็นผู้นำทางความคิดของคนในชุมชน ให้มองเห็นภาพแห่งอนาคตและสามารถสื่อสาร “ขายและขยาย” ความคิด ความเชื่อ ปรัชญาของตนให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รู้ได้เห็น มีการโน้มน้าวชักจูงให้เห็นความสำคัญ ความเห็นด้วยอย่างได้ผล สร้างความรู้สึกผูกพัน น่าสนใจ น่าท้าทาย กับวิสัยทัศน์นั้น อันจะนำไปสู่ การปฏิบัติโดยการเพิ่มอำนาจ (Action through Empowerment) (วีระวัฒน์  ปันนิตามัย, 2544, 128-129) ผู้นำตามธรรมชาติ เป็นบุคคลที่อยู่ในชุมชนนั่นเอง เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจถึงภาวะความกดดัน และหากผู้นั้นมีวิสัยทัศน์ (Vision) คือสามารถมองเห็นภาพในอนาคต และมีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการกับปัญหาของชุมชน ด้วยความสามารถ/ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตน จะทำให้เป็นผู้นำที่มีพลังอำนาจบารมี (power)ที่ชาวชุมชนเชื่อถือ และต้องประกอบด้วย  การกล้าคิดและ ยิ่งกล้ากระทำการแบบมีความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ส่วนรวม ก็ยิ่งจะทำให้ชาวชุมชนศรัทธาและเข้ามาร่วมกระบวนการจัดการกับปัญหาของผู้นำนั้น   จึงเป็นประเด็นสำคัญที่มีผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ และสามารถบริหารวิสัยทัศน์ ด้วยการมีจิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness ) และ ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility)

          ผู้นำตามธรรมชาติมีอยู่ในทุกชุมชน นับว่าเป็น
“ทุนมนุษย์” (Human Capital) อันยิ่งใหญ่สำหรับการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย จึงต้องค้นหาผู้นำตามธรรมชาติของชุมชน ให้พบ หากภาวะผู้นำตามธรรมชาติดังกล่าวบูรณาการอยู่ในตัวบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้นำแบบทางการ (Formal Leader) เช่น คณะกรรมการชุมชน  ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้ผู้นำคนนั้นมีฐานะและศักยภาพสูงขึ้นในการจัดการกับปัญหาของชุมชน  และพบว่า ลักษณะสำคัญของผู้นำชุมชนที่ได้รับการยอมรับจากชาวชุมชน คือบุคคลที่มี ความซื่อสัตย์  จริงใจ มีความเสมอภาค และให้ความเป็นธรรม  จึงจะสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) ได้สำเร็จ  

          ผู้นำชุมชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการชักจูงและนำพาชาวชุมชนไปสู่การจัดการกับปัญหาชุมชนได้สำเร็จตามที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ร่วมกัน  ซึ่งต้องใช้หลักการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน และความเป็นประชาธิปไตย เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย

3. วิธีคิดในการจัดการกับปัญหาของชุมชน

           พบว่า ชาวชุมชนจะรวมตัวกันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยที่ “คนไทยจะรวมตัวกันเมื่อภัยมา” และหากได้ผู้นำที่ดีก็จะสามารถจัดการกับปัญหาได้  แต่ถ้าขาดผู้นำที่ดีชุมชนก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาชุมชนได้สำเร็จ ดังนั้น ในการจัดการกับปัญหาชุมชน จึงควรให้ความสนใจกับวิธีคิดของผู้นำชุมชน

          ในที่นี้ พบว่า วิธีคิดของชุมชนในการจัดการกับปัญหาชุมชนอันดับแรก  คือ
“การคิดเอาตัวรอด” (Survive) ก่อน  โดยค้นหาต้นเหตุแห่งปัญหาและลงมือกระทำการบางอย่างตามประสบการณ์ของชาวชุมชน โดยใช้หลักตรรกะ (Logic) แต่ความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของชุมชนและผู้นำชุมชน รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วม ในวิธีการจัดการกับปัญหาชุมชนอย่างถูกวิธี ซึ่งต้องไม่ขัดแย้งกับกติกาของสังคม  เช่น การจัดการกับปัญหาที่อยู่อาศัย ด้วยกระบวนการเจรจากับเจ้าของโครงการ/ เจ้าของที่ดิน/ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามสัญญาซื้อขาย  เช่น ที่หมู่บ้านจัดสรรร่วมเกื้อพัฒนา การขอความร่วมมือหรือความอนุเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการกู้ยืมเงินสร้างบ้าน และการปันส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Sharing) ของชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ในโครงการบ้านมั่นคง การโอนอ่อนผ่อนตาม/ เคารพกติกาของสังคม/ ปฏิบัติตามกฎหมาย ในกรณีถูกห้ามขายพวงมาลัยบนท้องถนน โดยยอมให้จับปรับ แต่ก็กลับมาขายอีก เพราะยังไม่สามารถหาอาชีพอื่นทดแทนที่มีรายได้ดีเช่นนี้ และการบังคับใช้กฎหมายไม่เคร่งครัด ดังเช่นที่ชุมชนซอยสวนเงิน อย่างไรก็ตามพบว่าหลักคิดของชาวชุมชนที่นำไปใช้ในการต่อสู้ หรือจัดการกับปัญหา คือ หลักศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) หลักความถูกต้อง เป็นธรรม(Social Justice) หลักการมีส่วนร่วมและการเพิ่มพลังอำนาจ (People Participation & Empowerment ) หลักแห่งความเป็นจริง (Reality)  และหลักการแก้ปัญหาแบบสันติวิธี (Peaceful Solving Problems)   ที่บูรณาการอยู่ในกิจกรรมหรือบริการที่ชุมชนจัดให้มีขึ้น   ความสำเร็จในการจัดการกับปัญหาชุมชน ขึ้นอยู่กับ “จิตสำนึกสาธารณะของชาวชุมชน” (Community Consciousness) ที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มพลังของ “การรู้รักสามัคคี” ซึ่งจะพัฒนาเป็นพลังร่วมของชาวชุมชน” (Synergy)  ที่จะทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น 

4. วิธีปฏิบัติในการจัดการกับปัญหาของชุมชน  

          ขึ้นอยู่กับบริบทของปัญหา ภาวะผู้นำชุมชน วิสัยทัศน์ผู้นำ การบริหารวิสัยทัศน์ และการบูรณาการความคิดร่วมของชาวชุมชน ในการจัดการกับปัญหาของชุมชนอย่างถูกวิธีตามความเป็นจริง

          การกระทำหรือการจัดกิจกรรม/บริการใดๆเพื่อผลประโยชน์ของชุมชน มิใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อาจผ่านตัวแทนหรือแกนนำของชุมชนในการจัดการกับปัญหาของชุมชน ซึ่งความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับ ระดับการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน  และ การสื่อสารแบบสองทาง (Two -Way Communication) ระหว่างผู้นำชุมชนและชาวชุมชน จนเป็นที่เข้าใจถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับรู้ร่วมกันอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

          ในการศึกษาครั้งนี้ ยังพบว่า บ
ริบทของสภาวะแวดล้อมที่เป็นปัจจัยภายนอกชุมชน ทำให้ชาวชุมชนมารวมตัวกัน ร่วมกันคิดและจัดกิจกรรมหรือบริการต่างๆ  เช่นที่ประชาคมตลาดน้ำตลิ่งชัน เกิดขึ้นตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ในการจัดสวัสดิการสังคม (ทัศนีย์  ลักขณาภิชนชัช, 2545 ) และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตลาดน้ำตลิ่งชันเป็นแหล่งท่องเที่ยวและส่งเสริมให้ชาวชุมชนเขตตลิ่งชันมีโอกาสประกอบอาชีพเพิ่มรายได้จากการประกอบอาชีพค้าขาย ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์   

          จากปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมืองที่เป็นข้อค้นพบจากการศึกษาดังกล่าว สามารถแสดงให้เห็นดังแผนภาพที่ 1

แผนภาพที่ 1
ปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง

  

          จากแผนภาพข้างบนนี้ แสดงให้เห็นถึง “วิธีการบริหารสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง” จาก 5 ชุมชนที่ศึกษา พบว่า การบริหารสังคม หรือ การสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงในการจัดการกับปัญหาเป้าหมายของชุมชนนั้น จะเริ่มต้นจาก “คนในชุมชน” ซึ่งเป็นแก่นกลางของชุมชน ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน จะเป็นปัญหาที่ขัดขวางต่อการดำเนินชีวิตปกติสุขของชาวชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ ได้แก่ ปัญหาที่อยู่อาศัย  ปัญหาการมีงานทำและการมีรายได้เพียงพอแก่การดำเนินชีวิต   จะได้รับความสนใจจากชาวชุมชนและเป็นแรงผลักดันให้ชาวชุมชนมารวมตัวกัน ทั้งนี้จะต้องมี “คนชักใยแมงมุม” (Spider Network) หรือ “ผู้นำ” ทำหน้าที่เป็นผู้นำความคิดและสื่อสารความคิด ให้ชาวชุมชนเข้าใจ และบริหารวิสัยทัศน์ร่วมกัน กำหนดเป็นแผนและนโยบายของชุมชนในการจัดการกับปัญหา และจัดกิจกรรม/บริการที่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหาของชุมชนอย่างเป็นระบบ อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน คณะอนุกรรมการ กลุ่มงาน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามแผนงานและโครงการ ประสานความร่วมมือกับชาวชุมชน ในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ทำงานอย่างเป็นกระบวนการหรือขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การกำหนดประเด็นปัญหา 2) การวิเคราะห์ปัญหาสาเหตุที่ตรงกับความเป็นจริง 3) การวางแผนการดำเนินงาน เช่น การทำแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน  4) การดำเนินงานตามแผนงานและโครงการ 5) ติดตามประเมินผลสำเร็จตามเป้าหมายของการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ในท้ายที่สุดคือเพื่อการพัฒนาคนและสังคมแบบยั่งยืน โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด คือ ความสามารถของชุมชนในการจัดการตนเองจนถึงระดับการพึ่งตนเองได้ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นจะทักษะชีวิตในการจัดการกับปัญหาที่ตนเอง ครอบครัวและชุมชนในโอกาสต่อไป  การมีจิตสำนึกสาธารณะที่ร่วมกันแก้ปัญหาของชุมชนด้วยทางออกแบบสันติวิธี   ซึ่งแสดงให้เห็นดัง “รูปวงล้อการบริหารสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง” ดังนี้

แผนภาพที่  2
รูปแบบการบริหารสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง

       จากการสรุปบทเรียนรู้ (Lesson Learned) ในการวิจัยเรื่องการบริหารสังคมกับความเข้มแข็งของชุมชนเมือง 5 ชุมชน ทำให้มองเห็นตัวอย่างที่ดีและปัจจัยสำคัญๆในการนำมาใช้ประโยชน์ต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมืองแห่งอื่นๆได้ไม่มากก็น้อย โดยมีข้อเสนอแนะต่อวิธีการบริหารสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง ดังต่อไปนี้

ข้อเสนอแนะต่อวิธีการบริหารสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง

1.    การบริหารสังคมของชุมชนเมืองมีปัจจัยชี้วัดความสำเร็จอยู่ที่ตัวแปรในเรื่อง คน, สภาพปัญหาของชุมชน, วิธีบริหารจัดการที่โปร่งใส, การมีส่วนร่วมจากชาวชุมชน และ การสร้างพลังชุมชน จึงควรสร้างกระบวนการพัฒนาชาวชุมชน ด้วยการเสริมแรงด้านความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในบริบทของปัญหาชุมชน และสร้าง การ รู้ รัก สามัคคี ระหว่างชาวชุมชน  เพื่อเป็นพลังร่วมของชาวชุมชน ผู้นำชุมชน แกนนำชุมชน ด้วยการมีจิตสำนึกสาธารณะและการทำงานร่วมกันแบบธรรมาภิบาล

2.    การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเมือง ควรให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคนในชุมชน โดยเริ่มจากค้นหาผู้นำธรรมชาติ ซึ่งเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญ  แล้วขยายผลออกไปสู่คนรอบข้าง หรือรวบรวมเป็นแกนนำชุมชน  สร้างพลังชุมชน โดยการเสริมสร้างความรู้เท่าทันในสถานการณ์ของปัญหาชุมชน

3.    ปัจจัยแวดล้อมภายนอกชุมชน มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน  ชาวชุมชนต้องเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี สามารถปรับตัวได้อย่างทันต่อสถานการณ์ จึงต้องเรียนรู้การปรับวิธีคิดและวิธีปฏิบัติตนให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นปกติสุข

4.    รัฐยังคงมีพันธกิจในการดูแลประชาชนให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข  รัฐจึงต้องแสวงหาภาคีการพัฒนาเป็นหุ้นส่วนในการบริหารสังคมแบบองค์รวมเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของการพัฒนาสังคม

5.    ผู้นำชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน จึงมีควรกำหนดภาพลักษณ์ของผู้นำชุมชน/ แกนนำชุมชน/ คณะกรรมการชุมชน ที่พึงปรารถนาเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคนและผู้นำชุมชน ซึ่งอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกสาธารณะ มีความรู้ความสามารถ รอบรู้ ซื่อสัตย์ มีความจริงใจในการทำงานเพื่อชุมชน มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีวิสัยทัศน์ และเรียนรู้ในการบริหารวิสัยทัศน์ เพื่อจูงใจให้ชาวชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมหรือบริการต่างๆเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน

..............................................................

   

บรรณานุกรม

 

กรุงเทพมหานคร. สรุปข้อมูลชุมชนกรุงเทพมหานคร ณ พฤศจิกายน 2549. 

 

กลุ่มการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม  สำนักมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ . เอกสารวิชาการ การพัฒนาสังคมเชิงบูรณาการ: บทเรียนจากเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภาค เรื่องการส่งเสริมการพัฒนาสังคมเชิงบูรณาการ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว. 2550.

 

ชุมชน เครือข่าย สน.ธรรมศาลาและกลุ่มชุมชนเขตทวีวัฒนา. ผลงานตามงบประมาณของ ปปส. 2546.

คณะกรรมการชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อ. ชมรมผู้สูงอายุ., ระเบียบชุมชนหมู่บ้านร่วมเกื้อว่าด้วยชมรม ผู้สูงอายุร่วมเกื้อ. 2548.

ชอบ  เข็มกลัด และ โกวิทย์  พวงงาม. การวิจัยปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเชิงประยุกต์. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: เสมาธรรม.2547.

 

อุทัย บุญประเสริฐ. การศึกษาแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา. 2543.

 

ปาริชาติ วลัยเสถียร และคณะ.  กระบวนการและเทคนิคการทำงานของนักพัฒนา.  กรุงเทพ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.2543.

 

นิโรธรี จุลเหลา และคณะ.  รายงานการฝึกภาคปฏิบัติ 2 ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตตลิ่งชัน, ชุมชนที่ทำการฝึก“ชุมชนหลังวัดไก่เตี้ย” คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2550,น.ไม่ปรากฎ)

 

สุรศักดิ์   วาจาสิทธิ์ และคณะ. พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542   

             พร้อม กฎกระทรวงและระเบียบกรมที่ดิน. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิญญูชน. 2547.

 

สถาบันวิจัยชุมชนเมือง, รายงานการวิจัย เรื่อง การส่งเสริมอาชีพในชุมชนแออัดที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ดินของสำนักงาน  ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยชุมชนเมือง, 2548.

 

สนธยา   พลศรี. ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน.  พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพ: โอเดียนสโตร์. 2545

 

สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ. 2546. รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย พ.ศ.  

              2546. กรุงเทพฯ: สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ. หน้า 175.)

 

สำนักงานเขตตลิ่งชัน, ตลาดน้ำตลิ่งชัน, แผ่นพับประชาสัมพันธ์. 2550.

 

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2545. รายงานขั้นสุดท้ายโครงการจัดทำเครื่องชี้วัดการพัฒนาเมือง และชุมชนน่าอยู่. ศึกษาโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์   

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอต่อ สศช.. กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. หน้า 18  (อัดสำเนา) 

 

สุพจน์ บุรพกุศลศรี.  สถิติการวัดสภาวะชุมชนเมือง. กรุงเทพ: ภาควิชาคณิตศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.  2531.

 

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. ธุรกิจอพาร์ทเมนต์ให้เช่า. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.2550.

 

ทัศนีย์  ลักขณาภิชนชัช. การใช้ทรัพยากรในงานสวัสดิการสังคม. กรุงเทพฯ: สมชายการพิมพ์. 2545.

 

วีระวัฒน์  ปันนิตามัย. ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader),กรุงเทพฯ: ธนาเพลส แอนด์ กราฟฟิค. 2544.

 

H.D.F. Kitto. 1951. “The Polis” from The Greeks. In R. T. LeGates and F. Stout (ed.). 2000. The City Reader. 2nd ed. pp. 31-36. London and New York: Routledge

 

Peter Hall.  Cities in Civilization. New York: Weidenfeld&Nicolso, 1998.

 

UNDP. Changing Policy and Practice from Below: Community Experiences in Poverty Reduction. A. Krishna (ed.). [On;ine] Available at:www.undp.org/governance/marrakechcdrom/concepts/  Rabinvitch.pdf

 

UNDP. From Urban Management to Urban Governance. [Online] Available at: www.undp.org/governance/marrakechdrom/concepts/Rabinvitch.pdf 

 

 US Census Bureau. 2000. [Online] Available at: http://www.census.gov/population/censusdata/urdef.txt and http://www.census.gov/geo/www/ua/ua_2k.html

 

US Department of Agriculture. September 19, 2002. Measuring Rurality: rural-urban continuum codes. [Online] Available at:  http://www.ers.usda.gov/briefing/rurality/RuralUrbCon/

Edward J. Kaiser, David R. Godschalk, and F. Stuart Chapin, Jr. 1995. Urban Land Use Planning. 4th ed. Urbana and Chicago: University of Illinois Press.

Peter Cook. 1996. An Ideal City. In R. Middleton (ed.) 1996. The Idea of the City. pp. 212-221. Massachusetts: MIT Press.  http://www.muangthong.net/

ที่มา  http://www.tu.ac.th/org/socadm