Home » วิทยานิพนธ์ งานวิจัย กรณีศึกษา » วิทยานิพนธ์ การขออนุญาติจดทะเบียนอาคารชุดพักอาศัย กรณีศึกษา ..

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
วิทยานิพนธ์ การขออนุญาติจดทะเบียนอาคารชุดพักอาศัย กรณีศึกษา ..

บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การขออนุญาติจดทะเบียนอาคารชุดพักอาศัย
กรณีศึกษา โครงการอาคารชุดในเขตกรุงเทพมหานคร
ที่จดทะเบียนอาคารชุด ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง

http://www.housing.arch.chula.ac.th/09_thesis/thesis_th/47/ฐนัญพงษ์.pdf

ชื่อ : ฐนัญพงษ์ สุขสมศักดิ์ CODE :
วิทยานิพนธ์ : การขออนุญาติจดทะเบียนอาคารชุดพักอาศัย กรณีศึกษา โครงการอาคารชุดในเขตกรุงเทพมหานคร ที่จดทะเบียนอาคารชุด ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง (
condominium registation a case study of bangkok condominiums registered at land office phrakhanong branch)
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร. บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย
จำนวนหน้า : 250 หน้า ISBN 974-17-7097-9

          กฎหมายเกี่ยวกับอาคารชุดประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 26 ปี มีกฎกระทรวงและระเบียบปฏิบัติออกมาหลายฉบับ แต่ยังมิได้กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานไว้ชัดเจน ประกอบกับมีการนำอาคารรูปแบบต่างๆมายื่นขอจดทะเบียนอาคารชุด ทำให้ต้องมีการวินิจฉัยตีความข้อกฎหมาย และวิธีปฏิบัติหลายครั้งทำให้เกิดความล่าช้า อันอาจส่งผลเสียตามมา

          การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1. ขั้นตอนและระยะเวลาการขอจดทะเบียนอาคารชุด ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 และตามระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. เพื่อศึกษาสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นในการขอจดทะเบียนอาคารชุด ตาม พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 และตามระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

           การศึกษามีขอบเขตการศึกษาเฉพาะขั้นตอน และระยะเวลาในการขออนุญาตจดทะเบียนอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 และตามระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเลือกศึกษาเฉพาะโครงการที่ขอจดทะเบียนอาคารชุดในปี พ.ศ.2547 ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ในเขตกรุงเทพมหานคร ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการจดทะเบียนอาคารชุดมากสุด ประกอบกับมีประเภทของอาคารครอบคลุมทุกลักษณะ โดยสามารถสรุปผลการศึกษาส่วนของขั้นตอนและระยะเวลาในการจดทะเบียนอาคารชุดได้ดังนี้

1. กระบวนงานรับคำขอ มีขั้นตอน 7 ขั้นตอน มีระยะเวลาการปฏิบัติงาน จำนวน 1-4 วัน
2. กระบวนงานตรวจสภาพที่ดินและอาคาร มีระยะเวลาห่างจากกระบวนงานที่1 จำนวน 5-168 วัน
3. กระบวนงานจดทะเบียนอาคารชุด มีขั้นตอน 4 ขั้นตอน มีระยะห่างจากกระบวนงานที่ 2 จำนวน 1-145 วัน

          สรุประยะเวลาโดยทั่วไปการจดทะเบียนอาคารชุดอยู่ระหว่าง 7 วันถึง 69 วัน ไม่เกิน 145 วัน

          ส่วนการศึกษาถึงสาเหตุและปัญหาพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในการขออนุญาตจดทะเบียนอาคารชุดจะเป็นเรื่องของเอกสารที่ใช้ในการยื่นคำขอที่ส่วนใหญ่แสดงหลักฐานไม่ครบในวันที่ยื่นคำขอ เนื่องจากอาคารส่วนใหญ่อยู่ระหว่างขั้นตอนของการเก็บงาน และยังไม่ได้รับหนังสือรับรองการก่อสร้างอาคาร ที่ออกโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น ปัญหาของการวัดระยะ และคำนวณพื้นที่ห้องชุดที่ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจในวิธีการวัดและคำนวณพื้นที่ทำให้ต้องมีการแก้ไขในกระบวนงานของการตรวจสภาพที่ดินและอาคาร ทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนงานการจดทะเบียนอาคารชุด สำหรับในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานจะไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากเป็นการจัดตั้งในรูปของคณะกรรมการในการพิจารณาจดทะเบียนอาคารชุด

          จากปัญหาที่เกิดขึ้นแนวทางแก้ไขควรอนุโลมให้รับคำขอไว้ก่อนเพื่อดำเนินการในกระบวนงานต่อไป และให้ผู้ยื่นนำเอกสารที่ยังขาดอยู่มาให้ในวันที่จดทะเบียนอาคารชุด และจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการวัดระยะและคำนวณพื้นที่ห้องชุดให้ผู้ประกอบการทราบเพื่อผู้ประกอบการจักได้ดำเนินการให้ถูกต้องตั้งแต่การขายให้กับลูกค้า และ ผู้ยื่นคำขอจะต้องรีบดำเนินการในส่วนของการขอหนังสือรับรองการก่อสร้างอาคาร เพื่อนำมายื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนอาคารชุด

          ข้อเสนอแนะจากกการศึกษาครั้งนี้ พบว่าปัญหาที่เป็นอุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากการขาดเอกสารในการจดทะเบียน กรมที่ดินควรจะมีการประชาสัมพันธ์ถึงขั้นตอนระยะเวลาในการขออนุญาตจดทะเบียนอาคารชุดและวิธีการวัดระยะและคำนวณพื้นที่ตามระเบียบของราชการให้ทราบโดยทั่วกัน และผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้