Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » วิธีการอยู่กับน้ำท่วมแบบชาวบ้าน เอาไปปฏิบัติได้ง่ายๆว่าควรต้องทำอะไรบ้าง #2

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
วิธีการอยู่กับน้ำท่วมแบบชาวบ้าน เอาไปปฏิบัติได้ง่ายๆว่าควรต้องทำอะไรบ้าง #2

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554  : อสังหาริมทรัพย์

วิธีการอยู่กับน้ำท่วมของชาวบ้าน...ในเขตเมือง (ตอนที่2)

โดย : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์

          ในคราวที่แล้ว(ตอนที่1)ผมได้พูดถึงเรื่องช่องโหว่ของกำแพงกระสอบทรายว่าอาจมีปัญหารั่วตรงบริเวณขอบซ้ายขวา แต่ผมไม่ได้ลงรูปให้ดู

          ผู้อ่านจึงอาจมองภาพได้ไม่ชัดเจน คราวนี้ผมจึงขอเอาภาพมาให้ดูเป็นตัวอย่างว่าช่องโหว่นั้นเป็นอย่างไร และ ขอนำข้อคิดเพิ่มเติมมาเล่าให้ฟัง โดยแบ่งเป็นข้อๆ เช่นเดิม ดังนี้

    17. ผ้าพลาสติกหากจะนำมาคลุมถุงทราย ก็ควรเลือกผ้าผืนเดียวที่ยาวพอจะคลุมได้ตลอดความยาวของกำแพงกระสอบทราย เพราะหากมีรอยต่อน้ำก็อาจเข้าตรงรอยต่อนั้นได้ ผ้าพลาสติกที่อุตส่าห์นำมาคลุมไว้ก็อาจได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ วิธีแก้ไขกรณีนี้ คือ เอาชายผ้าพลาสติกนั้นวางให้เหลื่อมกันหรือทาบกันอย่างน้อย 20-30 เซนติเมตร (หนึ่งคืบถึงคืบกว่าๆ) แล้วเอาเทปพันสายไฟฟ้า (ซื้อได้ตามร้านวัสดุก่อสร้าง) ติดตรงรอยต่อ ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีนี้ช่วยได้ไม่เท่าไร เพราะตอนน้ำมาเทปก็จะหลุดออก แต่ดีตรงที่มันทำให้เวลาเราเอากระสอบทรายโปะทับตรงรอยต่อนี้อีกที มันก็จะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น และไอ้กระสอบทรายที่เราเอามาโปะอัดทับหลังนี่แหละที่สำคัญ  ที่เราต้องอัด (ภาษาช่างเขาเรียกว่า "ตีทราย") ให้ทับบนรอยต่อให้มากที่สุด รอยรั่วตรงรอยต่อก็จะน้อยลง

    
18. เครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งไว้ที่พื้นนอกบ้าน หรือยกไว้ไม่สูงนัก ก็ควรถอดมอเตอร์กับพัดลมและอุปกรณ์แมกเนติกชิ้นเล็กๆ ออก โดยไม่จำเป็นต้องยกถอดทั้งตัวซึ่งยุ่งยากกว่ามาก และจะสะดวกกว่าเวลาเอามาประกอบกลับคืนที่เดิม ที่บ้านผมจ้างช่างเขามาถอด เขาคิดค่ารถ ค่าวิชา ค่าเสียเวลา รวมแล้ว 300 บาทต่อเครื่อง

    
19. เป้เป็นอุปกรณ์ที่สะดวกใช้ในยามฉุกเฉิน แบบนี้ เพราะเราอาจต้องออกไปข้างนอกบ้าน ไปซื้อสิ่งของ ฯลฯ ซึ่งถ้ามีเป้สะพายหลังเราก็ไม่ต้องใช้มือถือของเราก็จะมีมือทำโน่นทำนี่ได้ รวมทั้งทำให้เราเดินลุยน้ำได้มั่นคงขึ้น คือ หกล้มยากขึ้น

    
20. ในช่วงน้ำท่วมเข้าใจว่า อาจมีงูหรือสัตว์อื่นๆ หนีน้ำขึ้นมาบนบ้าน เรา เพราะฉะนั้น ควรเตรียมไม้ด้ามยาวๆ เอาไว้ไล่ มันออกจากบ้าน และสิ่งที่ไล่มันได้ชะงัด คือ กระป๋องสเปรย์พวกยากันยุง และยาฆ่าแมลง

     
21. ควรจัด เตรียมกล่องกระดาษและถุงขนาดใหญ่ไว้หลายๆ ใบ เพราะอาจจำเป็นต้องใช้ สำหรับเก็บของจุกจิก ให้เรียบร้อย เพราะเราอาจต้องอยู่หลายวัน ถ้าอะไรๆ มันเกะกะก็อาจเกิดอันตรายได้ เช่น สะดุดหกล้ม  ฯลฯ

     
22. ควร หาเครื่องมือช่าง เช่น ค้อน คีม ประแจเลื่อน ถ้าหาประแจเลื่อนไม่ได้ก็หาประแจปากตายไว้หลายๆ เบอร์  ไขควง  สว่าน (แบบไฟฟ้าได้ก็ดี) ตะปูธรรมดา ตะปูเกลียวพร้อมพุกพลาสติก เทปพันสายไฟ  เทปท่อประปา  เลื่อยและใบเลื่อยเล็กๆ คัตเตอร์  ฯลฯ เก็บไว้ในบ้าน เพราะคงมีโอกาสได้ใช้

     
23. ควร จัดหายาฆ่าเชื้อโรคติดบ้านไว้ ถ้าหาไม่ได้ใช้น้ำยาไฮเตอร์ก็พอแก้ขัดไปได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรหากล่องหรือรวมยาที่มียาที่จำเป็นอยู่ทุกอย่าง หาซื้อได้ที่องค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ (เข้าใจว่ามีร้านขายอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วย)

     
24. ใน กรณีที่มีเครื่องสูบน้ำหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ต้องเสียบปลั๊ก แต่สายยาวไม่พอถึงชั้นบน ก็ต้องเตรียมสายต่อไว้แต่เนิ่นๆ รวมทั้งเวลาต่อก็ต้องไม่เอาสายไฟช่วงที่ต่อกันวางกับพื้นเพราะอาจโดนน้ำได้ ต้องหาอะไรมารองให้อยู่สูงกว่าพื้น  เช่น อาจเอาม้านั่งสี่ขามาวางหงายแล้วเอาช่วงต่อสายวางไว้บนม้านั่งกลับหัวนี้ สายไฟก็จะอยู่ระหว่างขาของม้านั่งและไม่หลุดร่วงลงพื้น ถ้าระดับน้ำสูงขึ้นมากก็เอาม้านั่งนี้ไปวางบนอะไรอื่นที่สูงหนีน้ำได้อีกที

     
25. พนังน้ำกั้นมักจะพังตอนกลางคืน และน้ำมันจะบ่ามาตอนกลางคืน บางคนเชื่อเช่นนั้นจริงๆ แต่มันไม่จริง น้ำนั้นบทจะมามันก็มา ไม่เลือกเวลากลางวันหรือกลางคืน ปัญหาคือหากมันมากลางคืนเราอาจไม่รู้ตัว  ตื่นมาอีกทีน้ำก็เต็มชั้นล่างแล้ว วิธีที่ทำให้เรานอนหลับสบายใจขึ้นและกังวลน้อยลง ก็คือ เอา อุปกรณ์ที่เรียกว่าตัวจับระดับน้ำที่ภาษาช่างเขาเรียกว่า water level sensor มาตั้งไว้ตรงที่น้ำท่วมจะมา เช่น ที่ถนนหน้าบ้าน ซึ่งพอมันมาเครื่องนี้ก็จะมีเสียงดังกังวานปลุกให้เราตื่นมาดูแลของเราได้ทันกาล  อุปกรณ์พวกนี้ฟังดูยุ่งยากแต่จริงๆ แล้วพวกช่างไฟฟ้าที่รู้เรื่องนี้จะรู้ว่าไม่ใช่ของยากเลย ผมซื้อมาชุดหนึ่ง 3 พันบาท ซึ่งแพงหน่อยเพราะมีตัวชาร์จไฟด้วยในตัว สำหรับผู้ที่กลัวว่าอาจโดนเครื่องนี้ไฟดูดก็ไม่ต้องกังวล เพราะอุปกรณ์นี้เป็นไฟตรง (ไฟ DC) ที่แรงดันเพียง 24 โวลต์ ซึ่งต่ำมาก  เอามือจับก็ยังได้เลย

   
26. ข้อนี้ฟังดูเวอร์ไปหน่อย แต่ผมแนะนำ ให้จัดหาถังแช่ใบย่อมๆ มาเก็บไว้สักใบ เอาไว้ใส่น้ำแข็งไว้แช่ของสดตอนไฟดับ ซึ่งอาจช่วยประทังชีวิตเราไปได้อีกหลายวัน และเมื่อน้ำลดเราก็เอาไว้แช่ของอื่นตอนไปปิกนิกหรือมีงานเลี้ยงได้  เรียกว่าไม่เสียของเสียทีเดียว ผมซื้อมาหนึ่งใบราคา 1,300 บาท

    
27. ของอะไรที่เป็นไม้ ถ้าอยู่นอกบ้านก็ต้องหาอะไรผูกหรือคล้องไว้  มิฉะนั้น มันอาจลอยหายไปไหนก็ได้

    
28. ข้อนี้ สำหรับคนอยู่คอนโด ซึ่งหลายคนคิดว่าปลอดภัยสุดๆ ซึ่งไม่จริงเลย เพราะหากถูกตัดไฟและอยู่ชั้น 20 จะขึ้นลงก็คงลำบากโดยเฉพาะคนชราและผู้มีลูกอ่อน รวมทั้งอาจหุงหาอาหารไม่ได้เลย เพราะเมื่อถูกตัดไฟแล้วก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป นอกจากนี้ หากน้ำท่วมถังประปาและห้องเครื่องของอาคาร (ซึ่งปกติก็จะอยู่ชั้นล่างหรือชั้นใต้ดิน) น้ำประปาก็จะใช้ไม่ได้ หรือไม่มีเครื่องสูบมาสูบน้ำขึ้นถังเก็บน้ำที่ดาดฟ้า เราก็จะไม่มีน้ำใช้  ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่มากเพราะคนหมู่มากจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง และจะเกิดปัญหาทะเลาะ เพราะแย่งน้ำกันได้มาก

    
29. โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในวิกฤตการณ์น้ำท่วม เพราะหากขาดการติดต่อการประสานงานก็จะทำได้ไม่ดี การช่วยเหลือก็จะทำได้ไม่เต็มที่หรืออาจไม่ได้เลย ดังนั้น ต้องชาร์จไฟไว้ให้เต็มตลอดเวลา และไม่ควรพูดพร่ำเพรื่อเพราะระบบไฟฟ้าอาจถูกตัดได้ตลอดเวลา ซึ่งหากถูกตัดไฟก็จะไม่มีไฟมาชาร์จแบต นอกจากนี้ เวลาลุยน้ำหรือเดินบนสะพานชั่วคราว ก็ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือเพราะหากหลุดมือ หล่นลงน้ำ ก็จบกัน ยามหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้การกระทำที่เสี่ยงเช่นว่านี้จึงไม่พึงกระทำ
 
     จากคราวที่แล้ว 16 ข้อ มาคราวนี้อีก 13 ข้อ ก็หวังว่าจะทำให้ผู้อ่านเตรียมตัวอยู่กับน้ำท่วมคราวนี้ได้ดีขึ้นกว่าที่ได้เตรียมการไว้แล้ว และก็เช่นเดิมนะครับ มีสติไว้  ยิ้มเข้าไว้ อย่าเครียดมาก ขอให้โชคดีทุกคนครับ

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com